ผ่านโยบายเศรษฐกิจก้าวไกล 6.5 แสนล้าน หารายได้-จ่ายสวัสดิการ

25 มี.ค. 2566 | 09:06 น.
705

ผ่านโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล การสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม ยกเครื่องภาครัฐ หยุดแช่แข็งชนบทไทย พร้อมกางแผนทำนโยบายสวัสดิการ หารายได้ 6.5 แสนล้าน

“จุดขายของพรรคด้านนโยบายเศรษฐกิจ คืออยากสร้างความแตกต่าง โดยเราคิดแบบองค์รวม ทั้งสร้างฐานรากที่เข้มแข็ง แฟร์เกม หยุดแช่แข็งชนบทไทย มีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคธุรกิจ ต่อสู้ทุนผูกขาด และเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไทยจะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่หาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่มาขับเคลื่อน”

ใจความสำคัญตอนหนึ่งของบทสนทนาที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล บอกกับฐานเศรษฐกิจ และผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจสายทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสสัมภาษณ์พิเศษและเปิดตัวทีมเศรษฐกิจของพรรค เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังเกิดขึ้น

“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ขยายความต่อว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของขับเคลื่อนการหาเสียงเลือกตั้งในรอบนี้ โดยเน้นการสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม และยกเครื่องภาครัฐของไทยใหม่ให้มีความสามารถมากขึ้น แต่ต้องมีขนาดที่กะทัดรัด

“ที่ผ่านมาเราดูจีดีพี แต่ไม่ได้ดูเงินในกระเป๋าของประชาชน หลายปีที่ผ่านมาจีดีพีประเทศโต 20% ทำให้กำไรขององค์กรโต 30% แต่กลับหล่นเข้ากระเป๋าประชาชนแค่ 3% เท่านั้น ดังนั้นหากจะทำเศรษฐกิจโตแล้วให้รายได้คนไทยโต ด้วยต้องคิดใหม่ เพราะจริง ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพบางอย่างที่ถูกซ่อนอยู่หลายเรื่อง อยู่ที่ว่าจะต้องเข้าไปละลายน้ำแข็งที่ถูกแช่ไว้อย่างไร” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ระบุ

ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล 2566

สร้างรากฐานเศรษฐกิจให้มั่นคง

ทีมเศรษฐกิจได้ขยายความเรื่องที่ต้องทำเริ่มจากวาระแรกนั่นคือ การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง “วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร” ทีมเศรษฐกิจ อธิบายเรื่องนี้ว่า เป็นโมเดลซูชิจิ้มน้ำปลาพริก หรือการสร้างกลยุทธ์ให้ไทยเข้าไปเชื่อมโยงเป็นส่วนผสมหนึ่งของซัพพลายเชนโลกให้ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค ปักธงไปที่อุตสาหกรรมชิป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ และถือเป็นสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ต้องเริ่มจากวิธีง่าย ๆ ก่อน คือหาทางเร่งเจรจาดึงนักลงทุนในอุตสาหกรรมชิปเก่ง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และมีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้ เพราะเรื่องนี้หากไม่เร่งลงมือทำอาจทำให้ประเทศไทยตกขบวนอุตสาหกรรมไฮเทคได้ 

เอสเอ็มอีเข็มแข็ง-ทลายทุนผูกขาด

“สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล” ทีมเศรษฐกิจเล่าถึงเรื่องต่อมาคือ การขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้กลับมาเข้มแข็งเป็นพลังของเศรษฐกิจไทยผ่านนโยบายหลัก ๆ เช่น ทุนตั้งตัว 100,000 บาท และทุนสร้างตัว 1,000,000 ล้านบาท การตั้งสภาเอสเอ็มอีให้สามารถรวมกลุ่มกันได้มีปากเสียงทัดเทียมกับทุนใหญ่ หรือให้เอสเอ็มอีเสียภาษีอัตราต่ำลง และสามารถนำค่าจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี 

ขณะที่ “วรภพ วิริยะโรจน์” ทีมเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมายทลายทุนผูกขาดเพื่อลดค่าครองชีพ เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ปลดล็อคหลังคา เปิดให้บ้านเรือนใช้ ระบบ Net Metering ได้ ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคา กลางวันไม่ได้ใช้ไฟฟ้าก็ขายคืนเข้าระบบ พร้อมยกเครื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ เปลี่ยนที่มาและเพิ่มอำนาจในการยุติการควบรวม และสามารถสั่งให้แยกกิจการที่ผูกขาดเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม

 

ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล 2566

 

หยุดแช่แข็งชนบทไทย 

ขณะที่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ “เดชรัต สุขกำเนิด” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ยอมรับว่า ต้องหยุดแช่แข็งชนบทไทย โดยมี 3 เรื่องใหญ่ คือ แก้ปัญหาที่ดิน แก้หนี้สิน และสร้างแหล่งน้ำ เรื่องหนักคือที่ดิน จะผลักดันการเปลี่ยนที่ดิน สปก. เป็นโฉนด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีชื่อตรงกัน และถือครองอย่างน้อย 5 ปี ส่วนถ้าชื่อไม่ตรงก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิต่อไปเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินทำการเกษตร

อีกเรื่องคือ ตั้งกองทุน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อพิสูจน์สิทธิและรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน 10 ล้านไร่ ซึ่งเป็นปัญหาค้างคามานานกระทบกับเกษตรกรกว่า 1 ล้านครัวเรือน เพื่อช่วยเกษตรกรที่อยู่มาก่อนรัฐประกาศทับที่จะต้องได้รับโฉนด ขณะที่หน่วยงานราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินต้องคืนให้แก่ประชาชน 

ต่อมาคือ การปลดล็อกหนี้สิน เช่น รัฐช่วยเช่าที่ดินของเกษตรกรเพื่อปลูกป่าและนำมาชำระหนี้ เช่นเดียวกับการปลดหนี้เกษตรกรสูงวัย ปีแรกจะแก้ปัญหาที่เกษตรกรอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปกว่า 4 แสนครอบครัว ถ้าสามารถจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่ได้ครึ่งหนึ่งในระยะเวลาที่กำหนด รัฐจะช่วยจ่ายในส่วนที่เหลือให้ ก่อนขยายมาที่เกษตรกรอายุ 60 ปีอีกประมาณ 1.4 ล้านคนต่อไป เบื้องต้นจะมีวงเงินที่ต้องใช้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ยังไม่รวมเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะต้องใช้งบอีกจำนวนหนึ่ง

ปั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์-พัฒนาข้อมูล

ขณะที่เรื่องการวางรากฐานและสร้างรายได้ “อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล” อดีตผู้อำนวยการ TCDC และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสนอการดึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขึ้นมาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท มีคนทำงานในอุตสาหกรรม 9 แสนคน และยังสามารถต่อยอดได้อีกมาก หากเติมงบประมาณให้เหมาะสม รวมทั้งทบทวนแก้ไขกฎหมายที่กดทับวิธีคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกฎหมายเซ็นเซอร์

ส่วน “ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงินและนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล แนะนำเรื่องการแปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ ด้วยการการพัฒนามาตรฐานข้อมูลเชื่องโยงกันได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน สร้างกฎให้มีกลไกควบคุมเรื่องความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองความปลอดภัย และการสร้างพื้นที่จัดเก็บทรัพยากรข้อมูลให้พร้อมใช้ เพื่อสร้างธุรกิจแพลตฟอร์มบริการ ช่วยลดต้นทุนและกำแพงในการริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ด้วย

ยกเครื่องภาครัฐไทยใหม่

อีกด้านที่สำคัญ นั่นคือการยกเครื่องภาครัฐใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มจากเรื่องงบประมาณ ด้วยการจัดลำดับความสำคัญใหม่และจัดสรรให้ถูกที่ เช่นเดียวกับกิโยตินกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายบีโอไอให้ดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น

อีกทั้งต้องปรับโครงสร้างกระทรวง เพื่อให้การยุบ-ควบรวมหน่วยงานรัฐ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน รวมไปถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไม่ให้ท้องถิ่นถูกแช่แข็ง ส่วนด้านการต่างประเทศ ต้องมีสำนักงานผู้แทนการค้าที่ดูทั้งเรื่องการค้าและการลงทุน เพื่อหาโอกาสให้ประเทศไทย

เปิดนโยบายสวัสดิการ 6.5 แสนล้าน

ทีมเศรษฐกิจก้าวไกล เปิดนโยบายด้านสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย ใช้เงิน 6.5 แสนล้านบาท เช่น ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท เรียนฟรี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท ประกันสังคมถ้วนหน้า เงินผู้สูงวัยและคนพิการเดือนละ 3,000 บาท เติมเน็ตฟรี 1GB ต่อเดือน วัยทำงานมีช่วยเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาทน หรือผ่อนบ้านที่คนจนผ่อนไม่ได้ โดยรัฐจะช่วยผ่านเดือนละ 2,500 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ส่วนแหล่งรายได้ที่จะนำมาใช้ในด้านสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ลดขนาดกองทัพ เรียกคือนธุรกิจกองทัพ ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เงินปันผลรัฐวิสาหกิจ เก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนรวยที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท เก็บภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง เก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่ ปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี และทำหวยบนดิน

 

นโยบายด้านสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย