thansettakij
เช็กโครงสร้างเตือนภัย Cell Broadcast  ภารกิจใครแจ้งแผ่นดินไหว

เช็กโครงสร้างเตือนภัย Cell Broadcast ภารกิจใครแจ้งแผ่นดินไหว

30 มี.ค. 2568 | 23:05 น.

เช็กโครงสร้างระบบเตือนภัย Cell Broadcast ผ่าน SMS หรือ ข้อความสั้น ภารกิจของหน่วยงานไหนแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวและเหตุฉุกเฉิน

แผ่นดินไหว รุนแรงขนาด 8.2 ลึกจากพื้นดินราว 10 กม. มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา  กรมอุตุนิยมวิทยา  ได้รายงานเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันศุกร์ที่  28 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ส่งแรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่สามารรับรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้

แผ่นดินไหวล่าสุด ครั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เกาะติดอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผ่นดินไหวรอบนี้ถือว่าร้ายแรงสำหรับประเทศไทย เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาก่อน แรงสั่นสะเทือนทำให้อาคารใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  มูลค่า 2.1พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เกิดทรุดตัวและพังถล่ม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

ศูนย์เอราวัณรายงานกรณีแผ่นดินไหว กทม.ข้อมูล ณ เวลา 22.00 น. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่เกิดเหตุอาคารกำลังก่อสร้าง 3 แห่ง จตุจักร บางซื่อ คันนายาว พบเสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 32 ราย สูญหาย 83 ราย

แผ่นดินไหวครั้งนี้ ประชาชนตั้งคำถามเรื่องระบบเตือนภัยของรัฐบาลไม่มีการแจ้งเตือน เหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นวันเดียวกับที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ ภูเก็ต ดัน Soft Power สร้างอนาคตแห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้บินกลับด่วนลงตรวจสอบพื้นที่อาคารถล่ม

ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้จัดประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว และ มาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระบบเตือนภัย SMS ที่ส่งไปถึงประชาชนล่าช้า ที่ นายกฯ ถึงกับหงุดหงิดอารมณ์เสีย กับ ระบบเตือนภัยผ่าน SMS หรือ Cell Broadcast ข้อความการส่งล่าช้า ได้มีข้อสั่งการสำหรับส่งข้อความ SMS ฉุกเฉิน และ ให้ ปภ.เร่งพัฒนาระบบ Cell Broadcast ส่งข้อความฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในไทยได้ทันที ภายในเวลา 3 เดือน

เช็กโครงสร้างระบบเตือนภัย Cell Broadcast  

โครงสร้างระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ถูกกระจายไปหลายหน่วยงานเพื่อทำภารกิจหลัก ไม่มีศูนย์กลางที่ตัดสินใจในยามภาวะเกิดเหตุฉุกเฉิน และ บูรณาการรวมกันอย่างแท้จริงไล่เรียงตั้งแต่ กสทช.  หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

หน้าที่หลัก:

  • ควบคุมดูแลผู้ให้บริการมือถือทั้งหมด
  • มีอำนาจออกกฎบังคับเรื่องการส่ง SMS เตือนภัย หรือ Cell Broadcast
  • สามารถสั่งให้ค่ายมือถือทุกเครือข่ายต้องร่วมมือ
  • เหมาะที่จะเป็นแม่งานด้านเทคนิคและการประสานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

ขณะที่ ปภ. หรือ  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 

หน้าที่หลัก:  รับผิดชอบเรื่องภัยพิบัติทั้งหมดในระดับประเทศ

  • มีฐานข้อมูลภัยพิบัติ รายงานจากทั่วประเทศ
  • มีหน่วยงานภาคสนามระดับจังหวัดและอำเภอ
  • น่าจะเหมาะเป็นผู้ “สั่งเตือนภัย” ตามสถานการณ์

 

กรมอุตุนิยมวิทยา หน้าที่หลัก :  รายงานและคาดการณ์สภาพอากาศ พายุ แผ่นดินไหว ฯลฯ

  • ออกประกาศเตือนภัยระดับประเทศ
  • เป็นผู้ส่งข้อมูลวิชาการเข้าระบบเตือนภัย

 กระทรวงมหาดไทย : บทบาทหน้าที่ ดูแลผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ

  • สามารถสั่งการและเผยแพร่ข้อมูลในพื้นที่ได้

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (NDWC) : 

  • เคยมีบทบาทหลังเหตุการณ์สึนามิ 2547
  • ปัจจุบันอยู่ภายใต้กรมป้องกันฯ  ควรจะปรับเปลี่ยน “ฟื้นฟูบทบาท” ให้ชัดเจนมากขึ้น

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รัฐบาลควร จริงจังผลักดระบบเตือนภัย  เพราะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานแบ่งเค้กไม่ลงตัว จึงทำให้ระบบเตือนภัย SMS ไม่แจ้งเกิดเสียที ถึงเวลาแล้วต้องจัดการให้เป็นรูปธรรม.