มูลนิธิอาเซียน - Google.org จัดเวทีประชุมนโยบายภูมิภาคขับเคลื่อนความรู้ AI

14 ก.พ. 2568 | 14:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2568 | 14:23 น.

มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) โดยการสนับสนุนจาก Google.org ประกาศความสำเร็จในการจัดการประชุมนโยบายระดับภูมิภาคว่าด้วยความพร้อมด้าน AI ณ สำนักงานใหญ่อาเซียน/สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินงานโครงการ AI Ready ASEAN ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานสำคัญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ด้าน AI และผลักดันนวัตกรรมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค

มูลนิธิอาเซียน - Google.org จัดเวทีประชุมนโยบายภูมิภาคขับเคลื่อนความรู้ AI

ในการประชุมระดับภูมิภาคครั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่จากทั่วภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนากรอบการกำกับดูแลและข้อริเริ่มเชิงนโยบาย เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งลดช่องว่างด้านความรู้เกี่ยวกับ AI เพื่อปลดล็อกโอกาสต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานสำคัญที่เข้าร่วม ได้แก่ ฯพณฯ Stella Christie รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, ฯพณฯ Nararya S. Soeprapto รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายกิจการชุมชนและองค์กร, ฯพณฯ เอกอัครราชทูต Bovonethat Douangchak ประธานคณะกรรมการมูลนิธิอาเซียนและผู้แทนถาวรแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำอาเซียน ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน และ Putri Alam ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบายสาธารณะ Google ประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ การประชุมได้จัดให้มีการอภิปรายเชิงนโยบายเพื่อศึกษาภูมิทัศน์และกรอบจริยธรรมด้าน AI ในภูมิภาคอาเซียน และแนวทางการขับเคลื่อนโครงการด้าน AI ในระดับชุมชน 

มาริยา ราลิช (Marija Ralic) หัวหน้าองค์กร Google.org กล่าวว่า “ด้วยความก้าวหน้าของ AI และ Machine Learning ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำความเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อชีวิตประจำวัน บทบาทในอนาคต และโอกาสที่เปิดกว้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเยาวชน ครู และผู้ปกครอง โดย Google.org ภูมิใจที่ได้สนับสนุนโครงการ AI Ready ASEAN ของมูลนิธิอาเซียน ซึ่งมุ่งเสริมศักยภาพเยาวชนและจุดประกายให้นักพัฒนา AI รุ่นใหม่ นำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม การสนับสนุนนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมให้ทุกคนในภูมิภาคสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จาก AI อย่างทั่วถึง"

การประชุมครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการ AI Ready ASEAN ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Google.org โดยมีเป้าหมายในการยกระดับความรู้ด้าน AI ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินงาน 2.5 ปี โครงการได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาทักษะด้าน AI ที่จำเป็นให้แก่ประชาชนกว่า 5.5 ล้านคน

การประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลอาเซียน ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2568 การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภูมิภาคอาเซียนในสองประเด็นสำคัญ คือ การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำภาคอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญ โดยประเด็นหลักของการหารือมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จาก AI ใน 3 ด้าน ได้แก่ การปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน การพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลที่ใช้งานร่วมกันได้ การส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเน้นย้ำความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมในระบบนิเวศดิจิทัลของภูมิภาค

มูลนิธิอาเซียน ในฐานะพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจจาก Google.org ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งสำคัญนี้พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตรอีก 4 แห่งจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโอกาสนี้ มูลนิธิได้นำเสนอโครงการ AI Ready ASEAN ต่อรัฐมนตรีดิจิทัลอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะบทบาทของมูลนิธิในการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลและการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้พร้อมรับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI การประชุมครั้งนี้ยังได้ตอกย้ำวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียนที่มุ่งสู่การเป็นประชาคมดิจิทัลที่เชื่อมโยงถึงทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ทุกคนในภูมิภาค

การประชุมเชิงนโยบายครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายของแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล 2568 และข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับคู่มือการกำกับดูแลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน ซึ่งให้แนวทางแก่ประเทศสมาชิกในการนำ AI มาใช้ โดยเน้นหลักความเป็นธรรม ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ