AI กุมอนาคต องค์กรปี 68 ธุรกิจแห่ลงทุนเชิงกลยุทธ์

27 ธ.ค. 2567 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2567 | 13:37 น.

บิ๊กเทค ชี้ AI กุมอนาคตองค์กร ปี 68 ธุรกิจแห่ลงทุนเชิงกลยุทธ์ สร้างความได้เปรียบคู่แข่ง ไอบีเอ็ม เผย 5 เทรนด์ ระบุถึงเวลาองค์กรทดลองเล่น AI ยกระดับ AI สู่โครงการยุทธศาสตร์ มุ่งเป้าเพิ่ม ROI ด้านไมโครซอฟต์ แนะองค์กรเร่งปรับใช้ AI ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างสิ่งใหม่ ๆ

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2568 เทคโนโลยี AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงธุรกิจ โดย AI จะถูกนำไปประยุกต์ใช้งาน หรือเชื่อมต่อองค์กรทุกแผนก ซึ่งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มที่ โดยการใช้ AI กำลังวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วจากการทดลองนำร่องสู่การนำไปใช้เชิงกลยุทธ์

AI กุมอนาคต องค์กรปี 68 ธุรกิจแห่ลงทุนเชิงกลยุทธ์

โดยในปี 2568 องค์กรจะมุ่งลงทุนโมเดล AI ที่มีความเฉพาะด้านและมีขนาดเล็กลง และมาพร้อมสถาปัตยกรรมแบบโอเพนซอร์สที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยโฟกัสจะอยู่ที่การเน้นความได้เปรียบในการแข่งขันและการเพิ่ม ROI ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการบูรณาการแพลตฟอร์มได้แบบไร้รอยต่อ อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะนำมาสู่ Agentic AI แต่เหนืออื่งใดใน ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้คือแนวทางการใช้ AI ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง”

 ไอบีเอ็มมองว่า 5 เทรนด์สำคัญของ AI ใน ปี 2568 ที่จะเข้ามีบทบาทสำคัญในอนาคต และช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ประกอบด้วย 1. Strategic AI: ยกระดับ AI สู่โครงการยุทธศาสตร์ โดยองค์กรจะปรับเปลี่ยนจากการทดลองใช้ AI ในโครงการขนาดเล็ก ไปสู่การนำ AI มาใช้ในโครงการที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิต การลดต้นทุน และการสร้างรายได้ใหม่ โดยองค์กรจะได้รับประโยชน์จาก AI อย่างเต็มที่ หากโครงการที่ดำเนินการนั้นมีเป้าหมายชัดเจนและสามารถวัดผลได้ เช่น การเพิ่ม ROI หรือการสร้าง Productivity ในระยะยาว

AI กุมอนาคต องค์กรปี 68 ธุรกิจแห่ลงทุนเชิงกลยุทธ์

 โดยตัวอย่างที่สำคัญ คือ ไอบีเอ็ม ที่มีการนำ AI มาปรับใช้ในกระบวนการทำงานภายในองค์กร ตั้งแต่ปี 2566 โดยตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้จะสร้างผลตอบแทนการลงทุนไว้ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 51 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนพฤษภาคม ไอบีเอ็มสามารถสร้าง ROI ได้สูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 68 พันล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ROI จะเพิ่มเป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 102 พันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินเป้าหมายเดิมถึง 100%

 2. Right-Sizing AI: พัฒนาโมเดลเล็กลง แต่ทรงพลังเทคโนโลยี AI ในอนาคตจะพัฒนาในรูปแบบของโมเดลที่เล็กลง (Small AI Model) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังคงประสิทธิภาพสูงสุด การพัฒนา AI ยังต้องสอดรับกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร โดยโมเดลขนาดเล็กจะใช้พลังงานน้อยลง และลดความซับซ้อนในการจัดการ แต่ยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ครบถ้วน นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังเปิดตัว Ganet 3.0 ซึ่งเป็นโมเดลขนาดเล็กที่เปิดให้ใช้งานในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส เพื่อสนับสนุนการพัฒนา AI สำหรับองค์กรที่มีทรัพยากรจำกัด

 3. Unified AI: ผสาน AI ทั้งระบบภายใต้กรอบธรรมาภิบาล องค์กรที่พัฒนา AI ในหลายแผนกมักเผชิญปัญหาการบริหารจัดการข้อมูลที่ไม่เป็นระบบ Unified AI จึงเป็นแนวทางที่องค์กรต้องรวม AI ทั้งหมดให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน โดยการบูรณาการ AI จะช่วยลดความเสี่ยง เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์หรือข้อมูลรั่วไหล และยังทำให้องค์กรใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

 แพลตฟอร์ม IBM watsonx.governance เป็นตัวอย่างของการรวมศูนย์การจัดการ AI ซึ่งช่วยให้การใช้งานในองค์กรเป็นไปตามกรอบธรรมาภิบาล เช่น การจัดการข้อมูลและความปลอดภัยในระดับสูง

 4. Agentic AI: AI ที่ตัดสินใจแทนมนุษย์ โดย AI ในยุคใหม่จะไม่ใช่แค่ระบบวิเคราะห์ข้อมูล แต่จะสามารถตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ภายใต้กรอบการทำงานที่กำหนดไว้ “Agentic AI” จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตัดสินใจ เช่น การอนุมัติคำสั่งซื้อในระบบจัดซื้อจัดจ้าง หรือการประเมินข้อมูลทางการแพทย์ที่ซับซ้อนตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ ซึ่งช่วยแพทย์วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว

 5. Human-Centric AI: AI ที่พัฒนาด้วยคนเป็นศูนย์กลาง เทรนด์สุดท้ายมุ่งเน้นการพัฒนา AI เพื่อเพิ่มคุณค่าต่อมนุษย์และปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience) โดยในยุคต่อไป การพัฒนา AI จะไม่ได้มุ่งเน้นแค่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ต้องตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

AI กุมอนาคต องค์กรปี 68 ธุรกิจแห่ลงทุนเชิงกลยุทธ์

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า เทรนด์ AI ที่น่าจับตามองในปี 2568 ที่องค์กรไทยทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และคนไทย ต้องเตรียมความพร้อมประยุกต์ใช้ AI ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างสิ่งใหม่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกให้กับตนเอง สังคม และประเทศ

AI กุมอนาคต องค์กรปี 68 ธุรกิจแห่ลงทุนเชิงกลยุทธ์

โดยเทรนด์สำคัญ ประกอบด้วย 1. Scaling Laws: AI จะยกระดับศักยภาพและเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2568 เทคโนโลยี AI จะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดยิ่งกว่าทุกการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ฉีกกฏการเติบโตจากเดิมที่เติบโตด้วยตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลา โดยคาดการณ์ว่า AI จะเพิ่มขึ้นแบบเป็นทวีคูณในทุก ๆ ครึ่งปี อันเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังในทุกมิติ และการนำเทคนิคที่เก่งกว่าเดิมมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลและอัลกอริทึมของ AI ซึ่งองค์กรที่ได้เริ่มใช้และยังไม่ได้ใช้ AI จึงควรปรับตัวตามเรื่องนี้ให้ทัน

 AI ไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยี แต่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการใช้ชีวิตและทำงานของทุกคน ภาคองค์กรต้องตระหนักถึงการนำ AI มาใช้เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานตลอดจนโมเดลธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน มีหลายองค์กรในไทยที่นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดระยะเวลาในการทำงานให้กับพนักงานแล้ว

 2. Agentic World: เสริมประสิทธิภาพให้องค์กร และช่วยพนักงานมุ่งเน้นการทำงานที่สำคัญ โดย AI Agent จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานและกระบวนการทำงาน ช่วยแบ่งเบาภาระการทำงาน Routine Work เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปโฟกัสกับการทำงานที่สำคัญกว่า และยังช่วยให้องค์กรจัดสรรทรัพยากรบุคคลได้เกิดประโยชน์สูงสุด ในอนาคตเราจะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI อย่างแพร่หลาย เราจะได้เห็น AI Agent มาช่วยสนับสนุนพนักงานในการค้นหาข้อมูล เข้าถึงองค์ความรู้ทั้งภายในและนอกองค์กรได้มากขึ้น ตลอดจนการทำงานร่วมกันแบบ Multi AI Agent และที่สำคัญผู้ใช้งานที่ไม่ความรู้ด้านไอที ก็สามารถสร้าง AI Agent ของตนเองได้อย่างง่ายดายและสะดวกรวดเร็ว ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ Microsoft 365 Copilot และ Microsoft Copilot Studio เป็นต้น

 3. Multimodal AI: สรรค์สร้างนวัตกรรม จาก AI ที่รองรับข้อมูลจากสื่อทุกประเภท โดยในสภาพการทำงานปัจจุบัน แหล่งข้อมูลที่เราใช้ในการทำงานหรือจัดเก็บไม่ได้มาจากเอกสารหรือข้อความเพียงอย่างเดียว ยังมีข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ข้อความ รูปภาพ เสียง ซึ่งในอนาคต AI จะสามารถนำข้อมูลที่อยู่ในสื่อหลากหลายประเภทนี้ออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ และบูรณาการร่วมกันได้ สามารถประมวลผลข้อมูลออกมาได้ครบถ้วนและสอดคล้องในทุกบริบท ก้าวข้ามขีดจำกัดในการป้อนข้อมูล คำสั่ง และแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบของข้อความเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้การสื่อสารกับ AI เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน Copilot ของ Microsoft สามารถใส่ prompt ได้ทั้งข้อความ เสียงพูดเป็นภาษาไทย และรูปภาพ สามารถมองเห็นสิ่งที่เราเห็นบนหน้าจอ หรือต้องการแสดงให้เห็นภาพกล้องที่มีอยู่บนดีไวซ์ต่าง ๆ รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิด user interface อันชาญฉลาด ใช้งานง่าย และเป็นภาษาธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ไม่ว่า จะเป็นระบบ Voice Recognition ที่แม่นยำรวดเร็ว หรือ Sora โมเดล AI ที่จะช่วยให้เราสร้างวิดีโอที่สมจริงได้จากข้อความ เราจะเห็นโซลูชันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงความสามารถนี้ สร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ เพื่ออำนวย ความสะดวก และสร้างแต้มต่อในการให้บริการลูกค้า

 4. Data Security: หัวใจสำคัญที่จะต้องพัฒนาควบคู่กับการประยุกต์ AI หนึ่งในเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจาก AI สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการแบ่งปันข้อมูล หากมีการแชร์ข้อมูลอย่างเกินควรและไม่ได้รับการป้องกัน ข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผยก็อาจถูกมองเห็นได้ เช่น ข้อมูลส่วนตัวของพนักงานและลูกค้า ซึ่งจะต้องเป็นความลับขององค์กร

AI กุมอนาคต องค์กรปี 68 ธุรกิจแห่ลงทุนเชิงกลยุทธ์

 ไมโครซอฟท์ เสนอ 4 แนวทางในการเตรียมข้อมูลสำหรับการใช้งาน AI คือ การรู้จักข้อมูล การควบคุมข้อมูล การปกป้องข้อมูล และการป้องกันการสูญเสียข้อมูล การดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาความกังวลของผู้นำ และลดความเสี่ยงด้านข้อมูลได้เป็นอย่างมาก พร้อมนำเสนอเครื่องมืออย่าง Microsoft Purview ช่วยรักษาความปลอดภัยข้อมูลแบบเรียลไทม์และการควบคุมการปฏิบัติตามข้อกำหนด ทำให้ การใช้งาน AI ในองค์กรปลอดภัย มั่นคง และมีประสิทธิภาพสูงสุด

 และ 5. Responsible AI: จริยธรรม AI ต้องใช้อย่างเป็น “ธรรม”กับทุกฝ่าย เพื่อให้ AI ถูกนำไปใช้งานอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และเกิดประโยชน์กับทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง บริษัทผู้พัฒนายักษ์ใหญ่ในหลายประเทศต่างร่วมกันในการหาแนวทางกำกับดูแลการใช้งาน AI โดยไมโครซอฟท์ ได้กำหนดมาตรการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งเน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความปลอดภัย ทั้งยังมีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าบริการ AI ใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นจะต้องผ่านเกณฑ์ Responsible AI ก่อนการนำออกมาใช้

 พร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้เสริมมาตรการ AI Guardrail เพื่อป้องกันการใช้งาน AI ในรูปแบบที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องและเป็นธรรม โดยมีการกำหนดเกณฑ์การใช้งานที่ชัดเจนและป้องกันการใช้งานในทางที่ผิด เช่น การใช้งานที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว การใช้เพื่อการก่ออาชญากรรม หรือการใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ