“TRUE” พร้อมถกภาครัฐหาทางออกสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้แอปดูดเงินประชาชน

23 ธ.ค. 2567 | 05:48 น.

“TRUE” พร้อมถกภาครัฐสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดูดเงินประชาชน ขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผย 9 เดือนสร้างความเสียหาย 77,000 ล้านบาท

จากกรณีที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี อยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เพิ่มอัตราเพิ่มปรับเป็น 5 ปี และ เพิ่มความรับผิดชอบให้สถาบันการเงิน  ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่นที่ ร่วมรับผิดชอบในความเสียหายของประชาชนที่ถูกหลอกลวงออนไลน์  คาดว่า พ.ร.ก.ป้องกันเทคโนโลยีฯ ประกาศภายในเดือนมกราคม 2568 นั้น 

ล่าสุด นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า TRUE พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่ง TRUE ได้ออกมาตรการป้องกันภัยไซเบอร์ภายใต้ชื่อ “ทรู ไซเบอร์เซฟ – True CyberSafe"  ระบบป้องกันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพ ใน 4 รูปแบบ คือ

  • ลิ้งค์แปลกปลอม ปกป้องลูกค้ามือถือทรู ดีแทค : บล็อก หรือ แจ้งเตือน  เมื่อมีการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย หากลูกค้ากดเข้าไป จาก SMS หรือ บราวเซอร์
  • ลิ้งค์แปลกปลอม ปกป้องลูกค้าเน็ตบ้านทรูออนไลน์ : บล็อก หรือ แจ้งเตือน  เมื่อมีการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย  บนเว็บบราวเซอร์
  •   SMS AI Filter : โดยจะแจ้งเตือนSMS ที่อาจเป็นมิจฉาชีพ ใช้ AI ในการประมวลพฤติกรรมของมิจฉาชีพ
  •  Call AI Filter การกรองสายเรียกเข้า : แจ้งเตือนสายเรียกเข้าที่อาจเป็นมิจฉาชีพ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรเอกชน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบทุกรูปแบบราวเดือนมีนาคม 2568  

อย่างไรก็ตามจากสถิติหลังจากเปิดระบบ True CyberSafe ระหว่างวันที่ 3 - 9 ธันวาคม 2567 พบข้อมูลดังนี้  จำนวนครั้งที่ลูกค้าคลิกลิงก์แปลกปลอมทั้งหมด 10,773,877 ล้านครั้ง สามารถปกป้องลูกค้าจากการคลิกลิงก์แปลกปลอมได้ถึง 10.3   ล้านครั้ง  คิดเป็น 96.28%  ที่ระบบสามารถปกป้องได้

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช

อย่างไรก็ตาม TRUE ยังคงเคารพสิทธิ์ลูกค้าหากลูกค้ายังยืนยันจะคลิกเข้าลิงก์ที่ได้รับการแจ้งเตือนต่อไป ก็สามารถทำได้ โดยพบว่า จำนวนครั้งที่ลูกค้ายืนยันเข้าลิงก์แปลกปลอมอยู่ที่ 400,283 คลิก ( จาก 10,773,877 ล้านคลิก ) 

โดย 4 ประเภทลิงก์แปลกปลอมที่พบจากระบบ True CyberSafe ในช่วงที่ผ่านมา มีดังนี้

อันดับ 1 : มัลแวร์ – เป็นไวรัสหรือซอฟแวร์เข้ามาฝังตัวในเครื่อง เพื่อเปิดช่องทางเข้ามาควบคุมเครื่องของเรา

อันดับ 2 : ฟิชชิง – เป็นการหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงิน เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต หรือรหัสผ่าน

อันดับ 3: หลอกลงทุน - มีการแสดงผลกำไรที่สูงเกินควร เพื่อดึงดูดความสนใจ รวมไปถึงการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เช่น คริปโต

อันดับ 4 : สแกม – การหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ เช่น สแกมบัตรเครดิต, สแกมถูกรางวัล, สแกมค่าธรรมเนียมศุลกากร และโรแมนซ์สแกม

หมายเหตุ: พบว่า 1 ลิงก์ มีมากกว่า 1 ประเภทการหลอกลวง

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าร่วมกับภาครัฐทุกภาคส่วน ในการตรวจสอบและเพิ่มลิงก์แปลกปลอมในฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อบล๊อคการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตรายได้ อีกด้วย

ขณะที่ AIS หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้มีมาตรการป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าด้วยการเปิดสายด่วน AIS Spam Report Center 1185 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง โดย AIS จะตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยสถิติอาชญากรรมออนไลน์ 9 เดือน สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 77,000 ล้านบาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ออกมาเปิดเผยสถิติของศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 มีการแจ้งความเกี่ยวกับคดีออนไลน์กว่า 739,000 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 77,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท.