นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า งานแถลงข่าววันนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของจังหวัดภูเก็ต ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ การนำ Big Data มาใช้เพื่อวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด ทั้งนี้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมล้วนให้ความร่วมมือกันอย่างสามัคคี สะท้อนถึงความพร้อมในการร่วมใจกันที่อยากจะเห็นพื้นที่ของตนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI เปิดเผยว่าจังหวัดภูเก็ต ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางอันมีชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก นอกจากจะนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศซึ่งก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น ปริมาณการใช้รถ ใช้ถนนเพื่อเดินทางสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำ ที่มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอรองรับความต้องการของจำนวนนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาขยะอันเนื่องมาจากการบริโภคของคนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ แต่ละกิจกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป และจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบเพื่อให้สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพ
ตามที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่และผลกระทบทางเศรษฐกิจของจังหวัด BDI จึงได้จัดตั้งโครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Envi Link ได้ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เทศบาลนครภูเก็ต และ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จัดทำ “โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตสู่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ พร้อมตั้งเป้าลดคาร์บอน 30% ภายใน 3 ปี ก่อนจะขยายผลไปยังจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไป
ภายใต้โครงการดังกล่าว BDI ได้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ที่ช่วยตอบคำถามด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศของพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ประมวลผลข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลสำคัญต่อคาร์บอนฟุตพรินต์ อันได้แก่ ปริมาณการใช้น้ำประปา การใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะ ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งในส่วนของปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนี้เอง ที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างง่าย ผ่านการใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มาพัฒนาโมเดลจำแนกประเภทยานพาหนะกลุ่มที่ใช้น้ำมันดีเซล เช่น รถบรรทุก รถกระบะ ฯลฯ ออกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งได้แก่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทั่วไป แล้วนับจำนวนรถแต่ละประเภทที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ก่อนจะประมาณการให้กลายเป็นปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วคำนวณให้เป็นคาร์บอนฟุตพรินต์อันเกิดขึ้นสืบเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์จากกิจกรรมอื่นๆ และถูกนำเสนอผ่านแดชบอร์ดแสดงผลข้อมูลซึ่งช่วยให้เห็นคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ กัน ช่วยให้หน่วยงานและคนในพื้นที่สามารถเห็นแนวโน้ม และทิศทางการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมต่อไป
ภายใต้โครงการนี้ ยังได้มีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้นับจำนวนคนที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตย่านเมืองเก่าเพื่อใช้ประมาณการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว ในช่วงเวลา และวันที่แตกต่างกัน อันจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้มีแผนต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานในแง่มุมต่างๆ สำหรับพื้นที่เพิ่มเติม โดยได้มีการทำงานร่วมกับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (Phuket City Development Co., Ltd.: PKCD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เติบโตอย่างยั่งยืน หนึ่งในบริการสำคัญของบริษัท ได้แก่ การให้บริการ Smart Bus EV แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในย่านพื้นที่เมืองเก่า ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรและลดมลพิษทางอากาศตัวเมือง โดย BDI ได้นำข้อมูลภาพ CCTV และข้อมูล GPS บนรถบัส มาใช้ประมาณการจำนวนผู้โดยสารของแต่ละจุดจอดตามช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะการวางตำแหน่งจุดจอดรถ หรือ ตารางเดินรถ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากโครงการ Envi Link ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการใช้ข้อมูลเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญแล้ว BDI ยังได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต เป็นต้นแบบของความยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยว โดยมีการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ Travel Link ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลท่องเที่ยวให้ถึงกันผ่าน www.travellink.go.th จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อขยายขีดความสามารถและการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีแดชบอร์ดข้อมูลท่องเที่ยวมากกว่า 150 แดชบอร์ด ซึ่งนอกจากจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังครอบคลุมอีกกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ
ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ Travel Link นั้น BDI ได้รวบรวมข้อมูลของการเดินทาง การพักแรม การใช้จ่าย และกระแสจากสื่อโซเชียล มาทำการวิเคราะห์ให้ทราบถึงการแสดงความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว จำนวนผู้มาเยี่ยมเยือน สถิติผู้โดยสารผ่านสนามบิน และยังมีการแสดงผลสถิติผ่านอินโฟกราฟิก ที่อัปเดตรายวันและรายเดือน ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมของข้อมูลได้ง่ายขึ้น สามารถช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้เกิด Sustainable Tourism สามารถเพิ่มรายได้ให้กับภาคเอกชนที่ร่วมใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Travel Link มีมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ เช่น การนำข้อมูลการท่องเที่ยวจากโครงการ Travel Link ที่กำหนดนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa) ให้กับประเทศจีน และประเทศคาซัคสถาน ทั้งนี้จากนโยบายฟรีวีซ่าทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าปี 2023 โดยมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านบาท
ในด้านการสนับสนุนการเป็นเมืองอัจฉริยะของจังหวัดภูเก็ตนั้น BDI ได้ร่วมมือกับ สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต ผ่านโครงการแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ หรือ (Smart Data Analytics Platform) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดระบบข้อมูลกลาง และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนงานที่ตอบรับกับนโยบายของจังหวัด โดยโครงการฯ จะรวบรวม เชื่อมโยง จัดเก็บ ประมวลผลข้อมูล เช่น ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของเมืองได้อย่างทันท่วงที พร้อมนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม โดยในระยะแรกได้ออกแบบพิมพ์เขียวและสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคลาวด์ พร้อมอบรมและสาธิตการใช้งานคราวด์และแดชบอร์ดให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้บริการและวางแผนการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
“ทิศทางการดำเงินงานของ BDI ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ยังคงมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะยกระดับขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้กว้างยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับและตอบโจทย์กับการใช้งานในพื้นที่ได้อย่างสูงสุด โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต” รศ. ดร.ธีรณี กล่าว