รายงาน e-Conomy SEA 2024 ฉบับที่ 9 จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 คาดว่าจะมีมูลค่า 263 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 8.679 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีที่ผ่านมา รายได้รวมเพิ่มขึ้น 14% คาดว่าจะสูงถึง 89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2.937 ล้านล้านบาท
บริการด้านการเงินดิจิทัลยังรักษาระดับต่อเนื่อง จากการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่แพร่หลายและบริการสินเชื่อดิจิทัลที่ได้รับความนิยมโดยรายได้บริการการเงินดิจิทัล โดยบริการการเงินดิจิทัลเติบโตขึ้นราว 22% มีมูลค่า 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท รายงานยังเจาะลึกถึงปัจจัยสำคัญ เช่น การสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาความปลอดภัยทางดิจิทัล และการส่งเสริมระบบนิเวศของ AI
โดยรายงานดังกล่าวยังระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวัดจากมุมมองของผลกำไรเป็นครั้งแรก ผู้เล่นหลักใช้กลยุทธ์เพิ่มรายได้ เช่น ค่าคอมมิชชั่นที่เข้มงวด การให้สิ่งจูงใจที่ตรงเป้าหมาย และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ส่งผลให้ผลกำไรเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จาก 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.32 แสนล้านบาท ในปี 2022 เป็น 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3.63 แสนล้านบาท ในปี 2024
สำหรับมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยในปี 2024 มีมูลค่า 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.518 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยในปี 2024 แสดงให้เห็นถึง การเติบโตอย่างต่อเนื่องในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยวดิจิทัล และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ แม้จะมีการเติบโตในระดับปานกลาง แต่รัฐบาลและภาคธุรกิจต่างร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของภูมิภาค
โดยการเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยแสดงสัญญาณเชิงบวกจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ เนื่องมาจากความนิยมของวิดีโอคอมเมิรซ์ที่เพิ่มขึ้น ประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบมีปฏิสัมพันธ์และคอนเท้นต์ที่น่าติดตามของวิดีโอคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้บริโภคสนใจ และนำไปสู่การซื้อของออนไลน์
รัฐบาลปรับกลยุทธ์เพื่อผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากอัตราการลงทะเบียนออนไลน์สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทั่วประเทศต่ำกว่าที่คาด รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยเพิ่มการแจกจ่ายเงินสดควบคู่ไปกับเงินแบบดิจิทัล วิธีการที่ยืดหยุ่นนี้ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงการ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดได้มากยิ่งขึ้น การนำเสนอทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้โครงการนี้สามารถตอบสนองประชาชนทุกรูปแบบความรู้ด้านดิจิทัล ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น
การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นพร้อมกับการผ่อนปรนข้อกำหนดของวีซ่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นจากการที่มีมาตรการใหม่ในการตรวจวีซ่าเพื่อส่งเสริมการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งรวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศ (เพิ่มขึ้นจากเดิม 57 ประเทศ) โครงการวีซ่าสำหรับผู้ทำงานด้านดิจิทัล และโครงการขอวีซ่าที่ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถขอได้ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศ (Visa on Arrival หรือ VOA) นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวต่างมองหาที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้น
กลยุทธ์ใหม่ของรัฐบาลเพื่อวางจุดยืนของประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัล ประเทศไทยเปิดตัวกลยุทธ์ 4 ปี เพื่อดึงดูดผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกและส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางข้อมูล
และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลยุทธ์นี้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ลดขั้นตอนกระบวนการสมัคร และอำนวยความสะดวกในการอนุมัติใบอนุญาต เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยมากขึ้น