นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของไทย ผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัลไทย เปิดเผยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมซื้อสินค้าออนไลน์ ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด
โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยถูกผูกขาดจากแพลตฟอร์มต่างชาติเพียง 2-3 ราย คือ Shopee Lazada และ TikTok โดยมีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน ทำให้แพลตฟอร์มสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการขาย ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน ค่าธรรมเนียมการจัดส่ง ซึ่งการเพิ่มค่าธรรมเนียมดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มเป็นเท่าตัว
สิ่งที่พิสูจน์ว่าอำนาจในการกำหนดค่าธรรมเนียมอยู่ในมือแพลตฟอร์มต่างชาติ คือ การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมถึง 2-3 ครั้งใน 1 ปี โดยไม่มีใครควบคุม สำหรับในปี 2567 นี้ ทั้ง Shopee Lazada และ TikTok ขึ้นค่าธรรมเนียมแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน และขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งการปรับครั้งล่าสุดนี้เพิ่มขึ้นถึง 50-150% การขึ้นค่าธรรมเนียมส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำไรของผู้ขาย โดยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ขนาดเล็กและกลางจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งขาย กำไรยิ่งลด
“การที่ผู้ขายต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองน้อย หรือไม่มีเลย เขาสามารถเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบ และเงื่อนไขการให้บริการได้ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงกะทันหันอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยไม่มีโอกาสตั้งรับ”
ผลกระทบของการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่มีการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติ แพลตฟอร์มมักเป็นเจ้าของข้อมูลลูกค้า เช่น พฤติกรรมการซื้อ สินค้าที่สนใจ ข้อมูลติดต่อ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นับว่ามีมูลค่ามาก เพราะสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ตลาด พัฒนาสินค้าและบริการ และทำการตลาดเป้าหมายได้ ส่วนผู้ขายที่เข้าถึงข้อมูลลูกค้าไม่ได้เต็มที่จะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และถ้าวันหนึ่งแพลตเฟอร์มต่างชาตินำข้อมูลลูกค้าไปใช้ประโยชน์แล้วส่งสินค้าราคาถูกจากจีนมาตัดราคา สุดท้ายแล้ว ผู้ประกอบการไทยก็จะอยู่ไม่ได้ ปัญหานี้แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซียที่แพลตฟอร์มท้องถิ่นเติบโตอย่างมั่นคง ประชาชนสนับสนุนแพลตฟอร์มในประเทศ ทำให้แพลตฟอร์มมีเงินทุนในการพัฒนาและแข่งขัน
นายภาวุธ กล่าวว่า หนทางที่จะรอดพ้นจากการครอบงำ ของแพลตฟอร์มต่างชาติ คือ การกระจายช่องทางขายมายังช่องทางขายของตัวเอง เช่น เว็บไซต์ และขายในช่องทางที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียม เช่น Social Commerce ที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงลูกค้า โดยสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดีผ่านคอนเทนต์ รวมทั้ง Live Commerce ที่ช่วยให้ผู้ขายนำเสนอสินค้าแบบเรียลไทม์ สร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย และยังมี Chat Commerce ที่ทำให้การสื่อสารกับลูกค้าเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นกันเอง
การมีช่องทางการขายของตัวเองทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า และยังสามารถสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น เก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนากลยุทธ์การตลาด ปรับราคาหรือโปรโมชันได้อย่างอิสระ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้ขายควรใช้ระบบการชำระเงินออนไลน์ของไทย ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าธรรมเนียมจากแพลตฟอร์มต่างชาติได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับเพย์โซลูชั่น (Pay Solutions) เป็นระบบชำระเงินออนไลน์ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทยที่สามารถรับชำระเงินได้ทุกช่องทาง ครอบคลุมทั้ง B2C และ B2B โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเชื่อมต่อทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การชำระผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน การชำระด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต Mobile Banking หรือ Alipay WeChat Pay และสามารถรับชำระที่หน้าเคาน์เตอร์ด้วยเครื่องรูดบัตร All-in-one รองรับการผ่อนชำระทุกธนาคาร ซึ่งเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งสามารถส่งลิงก์ รับชำระเงินผ่านแชตบนโซเชียลมีเดียได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมให้กับแพลตฟอร์ม และเร็ว ๆ นี้ เพย์โซลูชั่นยังเตรียมที่จะเปิดบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SME ช่วยตรวจสอบยอดชำระและจัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล การทำการตลาดและโปรโมชัน
“นอกจากจะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมจากแพลตฟอร์มต่างชาติแล้ว เพย์โซลูชั่นยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ลดการพึ่งพาบริษัทต่างชาติ ช่วยรักษาข้อมูลการทำธุรกรรม และเงินทุนให้คงอยู่ภายในประเทศ” นายภาวุธ กล่าว