คาดการณ์ว่า ในปี 2566-2571 กำลังการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยจะขยายจาก 67 เมกะวัตต์ เป็น 241 เมกะวัตต์ เติบโตขึ้นเป็น 4 เท่า ซึ่งตัวเลขการขยายตัวใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค สำหรับตัวเลขประเมินเม็ดเงินลงทุนนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ราว 2 แสนล้านบาท
การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ แบ่งการออกได้ดังนี้
1.การลงทุนขยายจากผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายเดิม เพิ่มขึ้นเป็น 174 เมกะวัตต์ หากคำนวนจากการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ 1 เมกะวัตต์ 400 ล้านบาท จะได้ตัวเลขการลงทุนที่เกือบ 7 หมื่นล้านบาท
2.กลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI อาทิ CtrlS (อินเดีย) มูลค่าลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท Next DC (ออสเตรเลีย) มูลค่าลงทุน 1.37 หมื่นล้านบาท STT GDC (สิงคโปร์) มูลค่าลงทุน 4.5 พันล้านบาท และ Evolution Data Centres (สิงคโปร์) มูลค่าลงทุน 4 พันล้านบาท โดยคาดการณ์จะมีการลงทุนของกลุ่มนี้ราว มูลค่าราว 5.2 หมื่นล้านบาท มีกำลังให้บริการอยู่ที่ราว 150 เมกะวัตต์
3. กลุ่มทุนในประเทศ
AIS ได้ประกาศความร่วมมือกับ Oracle มูลค่า 8 พันล้านบาท เตรียมให้บริการ คลาวด์ระดับไฮเปอรสเกล (Hyperscale Cloud) ในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยงบลงทุนดังกล่าว ทาง AIS จะนำไปใช้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อให้บริการไฮเปอร์ สเกล คลาวด์ (AIS Cloud) ในศูนย์บริการข้อมูล AIS ( AIS Data Center) ที่ปัจจุบันมีศูนย์ฯ กระจายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ กลุ่มลุกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ
AIS ยังได้ประกาศร่วมลงทุนกับ GULF SINGTEL ในชื่อ GSA ที่ลงทุนเฟสแรกไปแล้ว 20 เมกะวัตต์ (คำนวนจากดาต้าเซ็นเตอร์ 1 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 400 ล้านบาท) คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนราว 8 พันล้านบาท
กลุ่มทรู โดยบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ประกาศลงทุนเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท ในการขยายศักยภาพธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ครั้งใหญ่ โดยการลงทุนนี้จะประกอบไปด้วยหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการขยายดาต้าเซ็นเตอร์ที่ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส และทรู ไอดีซี นอร์ท เมืองทอง โครงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อก้าวเป็น Green Data Center เต็มรูปแบบ และโครงการพัฒนาความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ตลอดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2570 โดยโครงการทั้งหมดจะเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทฯ ในการรองรับธุรกิจของไฮเปอร์สเกลเลอร์ ผู้ให้บริการโอทีที และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศที่กำลังยกขบวนเข้ามาในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา ร่วมกับบริษัท Evolution Data Centres ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งบริษัท อีโวลูชั่น ดีซี (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อพัฒนาธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดมากกว่า 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท (คำนวนจากดาต้าเซ็นเตอร์ 1 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 400 ล้านบาท) ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ Data Center บน Strategic Location ย่านบางนา คาดว่าจะก่อสร้างเฟสแรกแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2568
4. กลุ่มบิ๊กเทคระดับโลก ที่ประกาศแผนลงทุนชัดเจน เช่น AWS ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ด้วยการเปิดตัว AWS Region ในประเทศไทย ที่จะมีชื่อว่า AWS Asia Pacific (Bangkok) ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานและจัดเก็บข้อมูลในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยในขณะที่ให้บริการผู้ใช้ปลายทางด้วยเวลาแฝงที่ต่ำ โดยมีการวางงบประมาณลงทุนมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 1.9 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 15 ปี
สุดท้ายคือ 5. กลุ่มบิ๊กเทคระดับโลกที่ยังไม่ได้ประกาศเม็ดเงินลงทุนทั้ง ไมโครซอฟท์ และ กูเกิล โดยคาดว่าหากมีการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ 100 เมกะวัตต์ จะมีเม็ดเงินลงทุนราว 8 หมื่นล้านบาท
ทุกประเทศในอาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย ต่างช่วงชิงการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์จากผู้ให้บริการทั่วโลก เข้ามา ซึ่งไทยต้องขยับตัวมากกว่านี้ หากต้องการเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ภูมิภาค และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาค ล่าสุด ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก ที่มีความต้องการเข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย อยากให้คลายข้อจำกัดการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ BOI อาทิ เงื่อนไขการติดตั้งไฟฟ้าหมุนเวียนแบบ และการชยายโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่เชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ