"Direct PPA" คืออะไร หลังไทยเร่งออกมาตรการรับ "กูเกิ้ล-ไมโครซอฟท์"

03 ก.ค. 2567 | 10:21 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 10:21 น.
814

"Direct PPA" คืออะไร หลังไทยเร่งออกมาตรการรับ "กูเกิ้ล-ไมโครซอฟท์" ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้หมดแล้วที่นี่ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ มุ่งตอบโจทย์กระแสของโลก

"Direct PPA" คืออะไร กำลังเป็นคำถามที่ได้รับความสนใจ หลังจากที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" เร่งดำเนินการผลักดันให้มีการใช้งานในประเทศไทยอย่างเน่งด่วน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "เศรษฐกิจ" พบว่า Direct PPA คือ การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) 

สำหรับสาเหตุที่ประเทศไทยต้องเร่งทำเรื่อง Direct PPA นั่นก็เพราะ การที่เศรษฐาเดินทางไปว่าเล่นในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุนในไทย ปรากฎว่ามีคำถามจากนักลงทุนจำนวนมากว่า ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดเพียงพอให้ใช้หรือไม่ เพราะกำลังเป็นเทรนด์ของโลก จึงมีความกังวลว่า เมื่อเข้ามาลงทุนในไทยแล้วจะไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้ใช้
 

จากประเด็นดังกล่าวส่งผลทำให้เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 67 ในการประชุม ครม.สัญจร ที่จ.พะเยา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการด่วนให้กระทรวงพลังงานจัดทำมาตรการเพื่ออนุญาตและส่งเสริมให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟกันโดยตรงกับผู้ผลิตพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยเร็ว

เพราะในเวลานั้นรัฐมนตรีการค้าของสหรัฐอเมริกา นำคณะนักธุรกิจที่ปรึกษาการส่งออกของประธานาธิบดีมาหารือร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อร่วมมือโดยเฉพาะการลงทุน โดยหนึ่งในประเด็นที่สำคัญก็คือ ต้องการความชัดเจนด้านพลังงานทดแทน เรื่อง Direct PPA ซึ่งไทยระบุว่า จะมีมาตรการชัดเจนก่อนสิ้นปีนี้ 

โดยเฉพาะนักลงทุนจากกูเกิล ไมโครซอฟท์ และอเมซอนที่เรียกร้องเงื่อนไขชัดเจนว่า หากจะเข้ามาลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ (Data Center) ในไทย จะต้องมีปริมาณไฟฟ้าสะอาดจำนวนมากให้ใช้อย่างเพียงพอ จึงต้องการให้ไทยออกใบอนุญาต ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตเอกชนโดยตรง หรือ Direct PPA ไม่เช่นนั้นจะไปลงทุนที่ประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมกพช. เห็นชอบแนวทางโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรงผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้กับบริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้ และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ และเป็นหนึ่งในแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งที่ประชุมกพช. ได้เห็นชอบกรอบการดำเนินการในปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ โดยบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ต้องมีลักษณะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งและผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการ TPA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยให้ครอบคลุมค่าบริการ เช่น 

  • ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) 
  • ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า 
  • ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า 
  • ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า 
  • ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย 

และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป