“สทน.” ดันงานวิจัยพัฒนาขุยมะพร้าว ทดแทนวัสดุเพาะปลูกนำเข้า

07 มิ.ย. 2567 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2567 | 13:30 น.

“สทน.” ปลุกงานวิจัยแฟลตฟอร์มขุยมะพร้าว ลดต้นทุนวัสดุปลูกพืชทดแทนการนำเข้า ส่งเสริมทางเศรษฐกิจ-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  หรือ สทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในหลายแขนง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัยและนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น 

“สทน.” ดันงานวิจัยพัฒนาขุยมะพร้าว ทดแทนวัสดุเพาะปลูกนำเข้า

 ดร.ละมัย  ใหม่แก้ว หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า โครงการ Radiant-Coircosorp แฟลตฟอร์มการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์จากขุยมะพร้าว พัฒนาเป็นวัสดุเพาะปลูกคุณภาพสูง เป็นการคิดค้นกรรมวิธีผลิตวัสดุเพาะปลูกทดแทนพีทมอสที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก  โดยใช้ขุยมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย  
 

ทั้งนี้ในทั่วไปขุยมะพร้าวที่ยังไม่ผ่านกระบวนการใดๆ ในท้องตลาดจำหน่ายในราคาเฉลี่ยลิตรละ 1 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปร่วมกับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์พัฒนาเป็นวัสดุเพาะปลูกที่มีคุณภาพสูงจะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น มีต้นทุนเฉลี่ยลิตรละ 10 บาท เพื่อทดแทนการนำเข้าพีทมอสจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาขายในประเทศเฉลี่ยลิตรละ 10-17 บาท  ขุยมะพร้าวที่นำมาผลิตผ่านกระบวนการนี้  มีคุณสมบัติช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของพืช  ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก อีกทั้งในกระบวนการผลิตก็เป็นวิธีที่ลดการใช้ความร้อน  ลดการใช้สารเคมี และลดปริมาณของเสียสู่สิ่งแวดล้อม

“สทน.” ดันงานวิจัยพัฒนาขุยมะพร้าว ทดแทนวัสดุเพาะปลูกนำเข้า

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยกรรมวิธีดังกล่าวมี 3 ชนิด คือ 1. Radiant-Coir: วัสดุเพาะปลูกปลอดเชื้อรา จุลินทรีย์ และไข่แมลง โดยนำขุยมะพร้าวบดละเอียดมาล้างสารแทนนินออกด้วยน้ำประปา  ผึ่งแดดจนแห้งสนิท  นำขุยมะพร้าวปลอดแทนนินมาผสมพีทมอส  นำไปฉายรังสีจะได้วัสดุเพาะกล้าที่มีคุณภาพสูง มีเชื้อโรคปนเปื้อนน้อยลง เหมาะแก่การนำไปเพาะปลูกกล้าพืช
 

2. การผลิต Radiant-CoirGel เป็นการผลิตเจลจากขุยมะพร้าว  พัฒนาเป็นแผ่นเจลที่มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดีสามารถดูดซับและเก็บกักน้ำได้มากถึง 116 เท่า ของน้ำหนักแห้ง นำไปผสมกับวัสดุเพราะปลูกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดิน ลดการใช้น้ำ และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 3.การผลิต Radiant-Sorp เป็นการผลิตโฟมจากแทนนินที่สกัดจากน้ำล้างขุยมะพร้าว  มีคุณสมบัติสามารถดูดซับสารละลายเหล็กจากน้ำได้มากกว่า 90 เปอร์เซนต์  ขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน  งานวิจัยนี้นอกจากจะช่วยในเรื่องการส่งเสริมทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“สทน.” ดันงานวิจัยพัฒนาขุยมะพร้าว ทดแทนวัสดุเพาะปลูกนำเข้า

อย่างไรก็ตามในปีนี้งานวิจัยทางด้านเกษตรกรรมดังกล่าวยังได้รับรางวัลเหรียญเงิน  Silver Medal Award จากการประกวดในเวที The 17th International Invention and Innovation Show (INTARG 2024) ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค. 2567 ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล NRCT Honorable Mention Award จาก Nation Research Council of Thailand (NRCT) ในงาน INTARG2024