สทน. ปลุกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หนุนระบบนำส่งยาต้านมะเร็ง

29 พ.ค. 2567 | 13:47 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2567 | 13:53 น.

สทน. ดันเทคโนโลยีนิวเคลียร์สังเคราะห์ซีลีเนียมนาโนไฮบริด ปลุกระบบนำต้านมะเร็งทรงประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง หวังใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ดร.หาญณรงค์  ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการนำอนุภาคนาโนที่สังเคราะห์จากธาตุหลากหลาย ชนิด เช่น ทอง เงิน ทองแดง สังกะสี ซีลีเนียม มาใช้งานอย่างกว้างขวาง มีฤทธิ์ทางชีวภาพในด้านต่าง ๆ  ทั้งในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลินทรีย์ และยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งอนุภาคมีขนาดอยู่ในระดับไมโคร สามารถแพร่ผ่านเข้าเซลล์และออกฤทธิ์ได้ดี

  สทน. ปลุกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หนุนระบบนำส่งยาต้านมะเร็ง

ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์อนุภาคนาโนสำหรับเป็นวัสดุทางการแพทย์ เช่น ยา หรืออาหารเสริม อย่างกว้างขวาง  สถาบันเทคโนโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ให้ความสำคัญ และมีผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาสังเคระห์อนุภาคนาโนไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หลายผลงาน
 

ดร.หาญณรงค์  กล่าวต่อว่า ล่าสุดทีมนักวิจัยของ สทน. พร้อมด้วย ดร.ศักดิ์ชัย หลักสี หัวหน้าคณะวิจัย นางสาวรัชณิกา งามขำ นางสาวภัทรา เลิศศราวุธ ดร.ฐิติรัตน์ รัตนวงษ์วิบูลย์  ดร.ธนกร แสงทวีสิน  ดร.ธีรนันท์ แตงทอง และ ดร.เกศินี เหมวิเชียร ผู้ร่วมวิจัย ได้ส่งผลงานวิจัย เรื่อง “โอ้ซีลีโนแคนเซอร์” นาโนเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของซีลีเนียมนาโนไฮบริดที่ทำงานหลากหลายฟังก์ชันเป็นตัวนำส่งนาโนอัจฉริยะสำหรับระบบนำส่งยาต้านมะเร็งอย่างทรงประสิทธิภาพ 

 

ดร.ศักดิ์ชัย หลักสี หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ กล่าวว่า โอ้ซีลีโนแคนเซอร์ เป็นการสังเคราะห์ ซีลีเนียมนาโนไฮบริดด้วยเทคโนโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นกระบวนการที่ง่าย สะอาด ปลอดภัย รวดเร็ว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ขนาดอนุภาคกระจายตัวเชิงเดี่ยวที่เหมาะสำหรับเป็นระบบนำส่งยาต้านมะเร็ง โอ้ซีลีโนแคนเซอร์ 

สทน. ปลุกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หนุนระบบนำส่งยาต้านมะเร็ง

ทั้งนี้อนุภาคซีลีเนียมนาโนไฮบริดนี้ถูกปรับแต่งหมู่ฟังก์ชันด้วยอนุพันธ์ของพอลิเมอร์ชีวภาพที่มีประจุบวกและโมเลกุลเป้าหมาย เป็นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบระหว่างอนุภาคนาโนซีลีเนียมและอนุพันธ์ของพอลิเมอร์ชีวภาพ ช่วยเพิ่มความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งและการเข้าสู่เซลล์มะเร็งมากขึ้น ช่วยนำยาไปยังตำแหน่งเป้าหมายด้วยกลไกจำเพาะและปลดปล่อยยาอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพของตัวยาต้านมะเร็ง และลดผลข้างเคียงในการนำไปใช้งานต่อไป 
 

นอกจากนี้ระบบดังกล่าวสามารถนำส่งยาต้านมะเร็งด็อกโซรูบิซินและเพิ่มความสามารถในการยับยั้งเซลล์มะเร็งของมนุษย์สูงกว่าตัวยาเพียงอย่างเดียวหลายเท่าตัว ดังนั้นเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำหรับเป็นระบบนำส่งยาต้านมะเร็งที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป 

สทน. ปลุกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หนุนระบบนำส่งยาต้านมะเร็ง

สำหรับการวิจัยในครั้งนี้ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกกรรม (สกสว.) เข้าร่วมประกวดในเวที The 17th International Invention and Innovation Show (INTARG 2024) ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค. 2567  ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติจำนวน 3 รางวัล คือ 1. รางวัลเหรียญทอง Gold Medal Award จาก 17th International Invention and Innovation Contest (INTARG2024) 2. รางวัลพิเศษ IEI Award 2024 จาก Association for the Promotion of Polish Science Technology and Innovation (SPPNTI) ในงาน INTARG2024  3. รางวัล NRCT Honorable Mention Award จาก Nation Research Council of Thailand (NRCT) ในงาน INTARG2024