ขุยมะพร้าวเพิ่มมูลค่าเกษตรแปรรูปส่งออก

07 มิ.ย. 2561 | 12:44 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2561 | 19:44 น.
9.7 k
ประเทศไทยมีวัตถุดิบการเกษตรหลากหลายชนิดและอุดมสมบูรณ์ ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถต่อยอดนำวัตถุดิบดังกล่าว มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โอกาสทองก็เป็นของคุณแล้ว เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จาก “ขุยมะพร้าว” ของคุณกนกวรรณ มณฑิราช หรือคุณโอปอ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบแทค จำกัด ที่เจาะตลาดเกาหลีใต้มาได้กว่า 3 ปี ตอนนี้เธอกำลังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อทั้งในยุโรปและเอเชียจากการไปเปิดตัวในงาน Hong Kong Gifts & Premium Fair 2018

IMG_7077
พัฒนาต่อเนื่อง  เพิ่มไลน์สินค้า

ไบแทคดำเนินธุรกิจมาเกือบ 10 ปี มุ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าการเกษตรมาโดยตลอด เริ่มจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขี้เลื่อย-ขี้กบอัดแท่ง มีออร์เดอร์จากเกาหลีใต้ ก็ทำส่งออกมาได้ระยะหนึ่ง ราว 3 ปีที่ผ่านมาลูกค้าเริ่มถามหาผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปใช้เป็นปุ๋ยและทำที่นอนสัตว์ด้วย แต่กำหนดมาว่าต้องการวัสดุที่เป็นธรรมชาติล้วนๆ ปราศจากสารเคมี ก็เลยมาลงตัวที่ “ขุยมะพร้าว” ซึ่งบริษัทเองก็มีสวนมะพร้าวอยู่แล้ว สามารถผลิตป้อนได้ตามออร์เดอร์ โดยนำเครื่องจักรมาอัดขุยมะพร้าวเป็นก้อนๆ ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ โดยยอดสั่งซื้อหลั่งไหลมามากในช่วงปี 2560 เฉลี่ยเดือนละ 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้หนึ่งก็ประมาณ 20 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 บาท คุณโอปอเล่าว่า วัตถุดิบส่วนหนึ่งมาจากจังหวัดภาคใต้ ส่วนหนึ่งมาจากสวนมะพร้าวของตัวเองที่ต่างจังหวัด ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ดี เพราะลูกค้าต้องการเยอะมาก

“ที่ผ่านมาเราส่งออกแบบอัดเป็นก้อนอย่างเดียวเลย โรงงานเรามีเครื่องจักรที่จะแยกไฟเบอร์(เส้นใย) และส่วนที่เป็นผงๆ หรือขุยมะพร้าวออกจากกัน ส่วนเส้นใยนี้นอกจากเอาไปทำเป็นกระถางแล้ว ยังทำเชือก ทำอะไรได้อีกมากมาย เรากำลังสั่งเครื่องจักรเข้ามาเพิ่ม ความจริงเราน่าจะส่งออกได้มากกว่านี้ เพราะลูกค้าต้องการมาก แต่เราติดที่วัตถุดิบมีไม่มากพอ ปีที่แล้วปลูกได้ไม่มาก ทุกวันนี้ต้องใช้ความร่วมมือในกลุ่มคลัสเตอร์ชาวสวนมะพร้าว ปลูกใหม่ทดแทนเพิ่มเติมกันอยู่ตลอด วางแผนไว้ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าต้องมีเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่”

IMG_7069                                                                                                                                   ข้อดีของขุยมะพร้าว คือนำมาใช้ปลูกพืชได้ดี ไม่มีสารเคมี สามารถซึมซับนํ้าได้มากกว่าดินปกติ เวลาลูกค้ารดนํ้าลงไปจึงอยู่ได้นาน เวลาปลูกไม่ต้องใช้ดินเลย จากการที่บริษัทสนใจเรื่องชีวมวลอยู่แล้ว พอลูกค้าแจ้งมาว่าต้องการขุยมะพร้าว จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดี จากเดิมที่ส่งออกในรูปก้อน ตอนนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดให้กลายเป็นสินค้าดีไซน์ นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น พัฒนาสินค้ามา 2 ปีก็ได้ผลลัพธ์เป็นกระถางต้นไม้ที่ทำจากเส้นใยมะพร้าว ข้างในอัดด้วยขุยมะพร้าวมีเมล็ดพันธุ์พืชฝังอยู่ สามารถนำมาวางบนโต๊ะทำงานหรือจุดอื่นๆในบ้านที่ต้องการความสดชื่นของต้นไม้  เพียงแค่รดนํ้าวันละครั้งสองครั้ง ต้นไม้เล็กๆก็จะงอกขึ้นมา

“ตอนผลิตเป็นขุยมะพร้าวอัดก้อน เราส่งออกได้เพียงเกาหลีใต้เพราะติดสัญญากับลูกค้าที่ต้องส่งออกให้เขาเพียงรายเดียว แต่พอพัฒนามาเป็นขุยมะพร้าวอัดเป็นแพ็กเกจ มาเป็นกระถางหรือกระป๋องพร้อมปลูกได้เลย เราก็สามารถส่งออกไปประเทศอื่นๆได้ด้วย โดยเรานำสินค้าใหม่มาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน Hong Kong Gifts & Premium Fair ที่ฮ่องกงปีนี้ มีสโลแกนว่า Wonderful.Good. Grow.Plant. เพื่อสื่อว่ามันเป็นคุณค่าทางจิตใจ จากขุยมะพร้าวที่เคยเป็นของเหลือทิ้ง เรานำมันมาก่อประโยชน์ ปลูกต้นไม้ได้ ให้ความสุขทางใจ พอต้นไม้ตายเราก็แค่เอากระถางไปฝังดินให้มันย่อยสลายไปตามธรรมชาติ เป็นปุ๋ยให้เราปลูกต้นไม้อื่นๆต่อไป”

กรีนไอเดีย ย่อยสลาย ไม่สร้างขยะ

ตอนนี้รูปแบบที่มีให้เลือกคือเป็นทรงกระถาง และทรงกระป๋องนํ้าอัดลม แต่ในการทำตลาดไม่ค่อยเน้นแบบกระป๋องมากนักเพราะต้องการโฟกัสความเป็นสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระถางไฟเบอร์มะพร้าว(ใยมะพร้าว) กระถางดินเผา กระถางลูกตีนเป็ด และกะลา พวกนี้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่เหลืออะไรให้เป็นขยะ ส่วนเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ที่ใส่ลงไป ก็คัดสรรพันธุ์ที่โตง่ายและขึ้นแน่นอน ลูกค้าซื้อไปจะได้ไม่มีปัญหาว่าปลูกไม่ขึ้น  “เรามี 7 พันธุ์ให้เลือก ได้แก่ ดาวกระจาย ดาวเรือง ทานตะวัน รัก ถั่วงอก กัญชาแมว และหญ้านำโชค (Wheatgrass)” คุณโอปอเล่าว่า กัญชาแมวนั้น มุ่งเจาะตลาดญี่ปุ่นที่ประชาชนนิยมเลี้ยงแมวกันมาก

IMG_7071

“เราเพิ่งเปิดตัวสินค้าใหม่ปีนี้ และเปิดตลาดครั้งแรกในงานที่ฮ่องกงได้รับการ ติดต่อจากลูกค้า 4-5 รายจากยุโรป ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สกอตแลนด์ ญี่ปุ่น และอินเดีย อยากจะขอไปเยี่ยมชมโรงงาน เขาสนใจทั้งแบบอัดก้อนและแบบกระถางตั้งโต๊ะ ด้วยความที่มันสามารถใช้ปลูกพืชแทนดินได้เลย ที่สำคัญคือเป็นวัสดุธรรมชาติล้วนๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือไอเดียและการออกแบบทำให้เป็นสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีความทันสมัย จากตลาดเกาหลีใต้ที่เป็นลูกค้าหลัก ตอนนี้บริษัทจึงมองไกลอีกนิดไปยังตลาดยุโรปที่นิยมสินค้าธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

จากขุยมะพร้าวที่เคยถูกทิ้งขว้าง เหมือนไม่มีมูลค่าอะไร กลับกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์คุณค่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ คุณโอปอยอมรับว่า ไอเดียดีๆ สินค้าเด่นๆนั้น สักพักก็อาจมีคู่แข่งทำสินค้าเหมือนๆกันออกมา ทำให้เธอต้องฉีกหนีด้วยการพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ  เช่น ในอนาคตอาจมีการผสมมูลค้างคาว มูลไส้เดือน ให้มันมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมเข้าไปอีกแต่ไม่ทิ้งจุดยืนในเรื่องความเป็นธรรมชาติอย่างแน่นอน พร้อมแง่คิดทิ้งท้าย ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องรีบทำ อย่าช้า !

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 38 ฉบับ 3371 วันที่ 3-6 มิถุนายน 2561 e-book-1-503x62-7