วันที่ 29 - 31 พฤษภาคมนี้ “YouTube ประเทศไทย” ได้มีการจัดนิทรรศการบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมขนเหล่าครีเอเตอร์ช่องดังร่วมแชร์เส้นทางความสำเร็จ และเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันเทคนิคการสร้างสรรค์วิดีโอ ไปกับกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ ที่จะมีเหล่าครีเอเตอร์ชั้นนำของไทยสลับหมุนเวียนมาร่วมพูดคุยกันที่ Sphere Gallery 2 ณ ศูนย์การค้า เอ็มสเฟียร์
รวมถึงเปิดแผนเดินหน้าลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะขยายหมวดหมู่คอนเทนต์ได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงผู้ชมทั่วโลกมากขึ้น ตลอดจนการดึง AI เข้ามาร่วมพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อยกระดับความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มศักยภาพชุมชนครีเอเตอร์ ฐานเศรษฐกิจ พาดูไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของ YouTube ในประเทศไทย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2557 - 2567)
ย้อนไทม์ไลน์ 10 ปี เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของ YouTube ในประเทศไทย
YouTube ขึ้นแท่นแพลตฟอร์มที่ครองใจคนไทย และ Gen Z
จากผลสำรวจของ Kantar พบว่า 89% ของผู้ชมกลุ่ม Gen Z ที่มีอายุ 18-24 ปี ยกให้ YouTube เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ชื่นชอบมากที่สุด รวมถึงเห็นตรงกันว่า YouTube มีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ในการเจาะลึกในสิ่งที่ตัวเองสนใจถึง 88% โดยผลสำรวจของ Nielsen ยังพบอีกว่า Gen Z ในประเทศไทยนิยมฟังเพลงและดูคอนเทนต์เกมบน YouTube รวมถึงนิยมดูกันในช่วงหลังเลิกเรียนหรือหลังเลิกงานเป็นเวลาต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง
ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ที่กลุ่ม Gen Z ในประเทศไทยชื่นชอบ 5 อันดับแรกก็เป็นครีเอเตอร์ YouTube ทั้งหมด อีกทั้ง YouTube ยังครองใจผู้ชมกลุ่ม Gen Z ในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในแง่ของ
การใชงานและการรับรู้อีกด้วย ในส่วนของ Gen Y ก็จะใช้เวลากับ YouTube มากที่สุด เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ และชอบชมวิดีโอคอนเทนต์บน YouTube ที่ส่วนมากเป็นแบบยาว
การเติบโตของ YouTube Shorts ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)
พบว่า ยอดดู YouTube Shorts โดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 130% และมีจำนวนผู้ชมที่ล็อกอินเพื่อดู YouTube Shorts โดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 35% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566) โดย Material ได้ผลสำรวจจากพฤติกรรมการชม YouTube Shorts ของคนไทยออกมาว่า 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการรับชมทั้งวิดีโอแบบสั้นและวิดีโอแบบยาวบน YouTube และ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า YouTube Shorts ช่วยให้สามารถเจาะลึกลงเนื้อหาของคอนเทนต์และหัวข้อเฉพาะที่ตัวเองสนใจได้
นอกจากนี้ เวลาในการรับชมคอนเทนต์ของช่อง YouTube ในไทยกว่า 25% มาจากผู้ชมในต่างประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566) ทั้งนี้ YouTube ประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ได้มีความกังวลอะไร เนื่องจาก YouTube เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลกอยู่แล้ว รวมถึง YouTube ไทยก็ยังคงมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ความยาวของวิดีโอจะอยู่ที่เท่าไหร่ ชั่วโมงการรับชมในภาพรวมก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราการเติบโตยังพุ่งสูงขึ้นทั้งหมด ในส่วนของรูปแบบวิดีโอที่กำลังมาแรงและน่าจับตาในขณะนี้ คือ Short Video และ Live Video ที่มีผู้ชมติดตามกันเป็นจำนวนมาก
การขยายช่องทางการสร้างรายได้สำหรับครีเอเตอร์ YouTube
ชุมชน YouTube ของไทยเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยปัจจุบันมีช่องที่มีจำนวนผู้ติดตามทะลุ 1 ล้านคนมากกว่า 1,000 ช่อง YouTube จึงได้มีการส่งเสริมการเติบโตด้วยการมอบช่องทางในการสร้างรายได้ที่หลากหลายแก่ครีเอเตอร์ ผ่านโปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube (YouTube Partner Program หรือ YPP) เพื่อให้ครีเอเตอร์ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากเนื้อหาของตัวเองผ่านฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การเป็นสมาชิกของช่อง (Channel Membership), Super Chat, Super Stickers และ Super Thanks
ตลอดจนได้มีการประกาศเพิ่มการสร้างรายได้ใน YouTube Shorts และขยายโปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube ในไทยให้ครีเอเตอร์มีสิทธิ์เข้าร่วมโปรแกรมนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ไทยที่มีจำนวนมากขึ้น สามารถเปลี่ยนความหลงใหลของตนให้กลายเป็นรายได้เพื่อเลี้ยงชีพ
YouTube พร้อมดันเทคโนโลยี AI เข้ามายกระดับชุมชนครีเอเตอร์อย่างไม่หยุดยั้ง
แรกเริ่ม YouTube ได้มีการใช้เทคโนโลยี AI ต่างๆ ในการขับเคลื่อนศักยภาพการนำเสนอคอนเทนต์มาตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่การลงโฆษณา การใช้ AI เพื่อแนะนำประเภทวิดีโอที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ชม ระบบหลังบ้านที่มี data เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์รูปแบบเนื้อหาที่จะสามารถคาดเดาได้ว่าผู้ชมกำลังมองหาอะไร ตลอดจนการเป็น Multi Format ที่สามารถกระจายคอนเทนต์วิดีโอไปยังแหล่งต่างๆ และการทำ Multi Language Video ที่มีไว้สำหรับให้เหล่าครีเอเตอร์สามารถปรับภาษาของวิดีโอให้ผู้ชมทั่วโลกสามารถรับชมคอนเทนต์ของตัวเองได้ ซึ่งจะมีการผลักดันให้ครีเอเตอร์เข้ามาใช้งานกันมากขึ้น
รู้จัก “Dream Track” และ “Dream Screen” ก่อนเปิดให้บริการในวงกว้างภายในปีนี้
YouTube เล็งเห็นถึงศักยภาพของ AI ที่เป็นประโยชน์ต่อครีเอเตอร์ ศิลปิน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จึงได้มีการเปิดให้บริการฟีเจอร์ AI ในเวอร์ชันทดลองแก่ครีเอเตอร์บางรายไปเมื่อไม่นานนี้ ก่อนที่จะมีแผนเปิดให้บริการในวงกว้างภายในปีนี้ โดยจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ฟีเจอร์ ดังนี้
ตัวแรกคือ ฟีเจอร์ “Dream Track” ที่เคยได้ประกาศออกไปก่อนหน้านี้ ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ครีเอเตอร์สามารถใช้สร้างเพลงหรือเสียงประกอบวิดีโอได้ตามที่ต้องการ ผ่านเสียงของศิลปินและคนดังมากมาย และตัวล่าสุดคือ ฟีเจอร์ “Dream Screen” เครื่องมือที่ครีเอเตอร์สามารถใช้เพิ่มวิดีโอหรือภาพพื้นหลังลงใน Shorts ของตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยการพิมพ์ไอเดียลงในพรอมต์ เท่านี้ก็จะสามารถออกแบบภาพและพื้นหลังวิดีโอได้ตามที่ต้องการ
การสร้างรายได้จากการครีเอทผลงานผ่าน 2 ฟีเจอร์ AI ยังต้องหารือต่อไป
ในส่วนของการสร้างรายได้จากการครีเอทผลงานภาพและวิดีโอพื้นหลังหรือเพลงผ่านฟีเจอร์ AI ดังกล่าว ทาง YouTube ประเทศไทย ระบุว่า เนื่องจากจะเป็นการครีเอทสื่อใหม่ขึ้นมาจากกลุ่มครีเอเตอร์ผ่าน AI จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันกับศิลปิน ครีเอเตอร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้วให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนดีก่อน
พร้อมทิ้งท้ายว่า จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนเหล่าครีเอเตอร์ เพื่อที่จะเดินหน้านำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส และช่วยปกป้องชุมชน YouTube จากข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงเป็นการเสริมแกร่งให้กับตัวแพลตฟอร์ม ผู้ผลิต และผู้ใช้งาน YouTube ทั่วโลกต่อไป