ผู้สื่อข่าวรายงานในวันนี้ 26 มีนาคม 2567 นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เข้าพบ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รวมทั้งกรรมการ กสทช.อีก 2 คน คือ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พลตำรวจเอก ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร โดยใช้เวลาประชุมราว 2 ชั่วโมงเริ่มประชุมเวลา 10.30 น. เป็นต้นไป
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM GRAMMY เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมทีวีดิจิทัลได้เข้าพบ นายแพทย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ในครั้งนี้เนื่องจากหาทางออกเกี่ยวกับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ที่กำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาตในปี พ.ศ.2572 โดยทางสมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน 2 เรื่องดังนี้
เรื่องแรก คือ สำนักงาน กสทช.ควรต่อสัญญาทีวีดิจิทัลทุกช่องเพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนด้านดิจิทัลมากมาย โดยธรรมชาติอุตสาหกรรมควรจะต้องเดินหน้าต่อ กลุ่มทีวีดิจิทัล ไม่ได้กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมเรายินดีแต่ต้องอยู่ในกติกาเดียวกันไม่มีข้อจำกัดๆ
เรื่องที่สอง คือ คลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ สำนักงาน กสทช.ควรรักษาไว้ไม่ควรนำคลื่นความถี่ของทีวีดิจิทัล ออกมาประมูล ถ้าไม่มีคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ โทรทัศน์แห่งชาติล่มสลายทันที เพราะผู้ชมทีวีทั้งหมดอยู่ในแซทเทิลไลท์ทีวี หรือ ดาวทียม ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ต้องรักษาคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์เอาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้รับชมทีวีดิจิทัล
สำหรับรายละเอียดที่กลุ่มทีวีดิจิทัล เสนอสรุปดังนี้ ปัจจุบันคนดูผ่านกล่องทีวีดิจิทัลมีเพียง 10% และ 60% ดูผ่านดาวเทียม หาก สำนักงาน กสทช.นำคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ คืน ผู้รับชมทีวีจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ ส่งผลให้ยอดคนดูลดลง โฆษณาลดลง
ขณะที่ คลื่น 3500 จะกระทบ C Band ถ้าเอาไปใช้ 5G ตามแนวของ ITU ถ้าเปลี่ยนไปใช้ในทางโทรคมจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งทางสถานีและทางผู้ใช้บริการใน 5 ปีที่เหลือก่อนหมดใบอนุญาต อยากให้ดูแล C Band
ส่วนทางด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า ปัญหาคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์อาจมีการดึงบางส่วนมาเป็นคลื่นโทรทัศน์และบางส่วนเป็นโทรคมนาคมจะมีผลกระทบหรือรบกวนในภาคอื่นหรือไม่ ปัจจุบันจะต้องมีการจัดสรรคลื่นอื่นๆอีก เช่น 2G 3G อาจนำคลื่น3500 ไปจัดทำ Private Network แต่ก็ต้องดูผลกระทบและภาพรวม ดังนั้นการจัดการเรื่องต่างๆต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายถ้าหากมีผลกระทบจะต้องมีการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมปัจจุบัน กสทช มีคณะทำงาน-อนุกรรมการในการแก้ไขกฎหมายแล้ว การออกประกาศอาจทำได้เร็วกว่าให้มาเป็นกฎหมายลูกเพื่อมากำหนดในการประมูลหรือไม่ประมูลคลื่นความถี่การประมูลเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วมได้ โดยใช้ประกาศกำหนด
ขณะที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างศึกษาโอกาส และความเป็นไปได้ในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ซึ่งจะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า การกำหนดนโยบายจะพยายามฟังรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย อย่างไรก็ดี นอกจากธุรกิจทีวีดิจิตอลแล้ว ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังดู satellite TV และยังมีประเด็นเรื่องอัตลักษณ์แห่งชาติ (National Identity) และความสำคัญด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคุณูปการที่ทีวีดิจิตอลได้สร้างสรรค์แก่ประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย
สำหรับเรื่องนี้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา อาจนำมาใช้ได้ในหลายกรณี อาทิ Private 5G รวมถึงขยาย Bandwidth สำหรับการใช้งาน 5G ในประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ในการนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวมาใช้ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งหน่วยงาน GSMA ภูมิภาค Asia-Pacific (APAC) ก็เคยแสดงข้อกังวลในประเด็นนี้ นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาความต้องการของตลาด ความพร้อมของอุตสาหกรรมที่จะนำคลื่นย่านนี้มาใช้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้