สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกโรงหนุน “พิรงรอง” หลังมีข้อพิพาท True ID

18 มี.ค. 2567 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2567 | 12:19 น.

"สภาองค์กรของผู้บริโภค" ออกแถลงการณ์สนับสนุน “พิรงรอง รามสูต” บอร์ด กสทช. ปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะ พร้อมเรียกร้องให้ True ID ปฏิบัติตามกฎหมาย กสทช.

จากกรณีที่เมื่อ วันที่ 14 มีนาคม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป หรือ True ID จำกัด ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์  โดยศาลฯได้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา 

ล่าสุดวันนี้ 18 มีนาคม 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกแถลงการณ์ให้กำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ สภาผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมให้กำลังใจและสนับสนุน กสทช.พิรงรอง รามสูต ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะ และเรียกร้องให้ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดในฐานะผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิทัล ปฏิบัติตามกฎหมาย กสทช. ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

จากกรณีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้อง  ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แล ะศาลสั่งประทับรับฟ้องนั้น  สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อร้องเรียนผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องโทรทัศน์ดิจิทัลผ่าน Internet TV Box และแอพพลิเคชั่น True ID ที่มีโฆษณาคั่นเวลาขณะเปลี่ยนช่องรายการซึ่งทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อน

และคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การให้บริการที่มีการนำเอา “ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัลของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่อง” ไปเผยแพร่ผ่านทางบริการ True ID นั้นอาจขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจทัล ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศดังกล่าว ต้องเผยแพร่ช่องรายการของตนเองผ่านทางผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายจาก กสทช. เท่านั้น

สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุน “พิรงรอง” ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค

 

และยังอาจขัดต่อประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ (pass through) ด้วย คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รวมทั้งมีมติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการให้บริการในลักษณะเดียวกับ True ID อีกหรือไม่ และสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือแจ้งเวียนผู้รับใบอนุญาตช่องรายการให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต (ตามข่าวบอกว่าเป็นการเสนอแนะไม่ใช่ออกคำสั่ง)

สภาผู้บริโภค เห็นว่า การฟ้องคดีของบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อมุ่งหวังที่จะระงับยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลของกรรมการ กสทช. โดยอิสระ ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ  อาจเข้าข่ายของลักษณะการกระทำที่เรียกว่า “การฟ้องปิดปาก” ซึ่งผู้ฟ้องคดีอาจมิได้มุ่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับโทษทางกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำเพื่อเป็นการขัดขวางและหน่วงเวลาในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

สภาผู้บริโภคและสมาชิกองค์กรผู้บริโภค จึงขอให้กำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกสทช. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และขอเรียกร้องให้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด พิจารณาถอนฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต โดยเร็ว.