นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเยว่า ภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 สำนักงาน กสทช.จะออกแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือ โรดแมป เพื่อนำคลื่นความถี่ 850 MHz , 2100 MHz , 2300 MHz และ 3500 MHz มาประมูล
ดังนั้นคลื่นความถี่ที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ใช้อยู่คือคลื่นความถี่ 850 MHz , 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจะหมดอายุในเดือนกันยายน 2568 ดังนั้น NT ต้องทำแผนคลื่นความถี่ให้ชัดเจนว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไร เมื่อไม่มีคลื่นความถี่ดังกล่าว และ เหลือเพียงคลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz ที่ได้จากการประมูลเท่านั้น โดยต้องส่งกลับมาให้สำนักงาน กสทช. เพื่อให้สำนักงาน กสทช.ดำเนินการประมูลคลื่นดังกล่าวก่อนสิ้นสุดใบอนุญาต
สำหรับกรอบการทำงานประมูลคลื่นความถี่ เมื่อได้แผนคลื่นความถี่ของเอ็นทีมาแล้ว จะดำเนินการจัดโฟกัสกรุ๊ป 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบข้อคิดเห็นและความต้องการของเอกชนว่ายังสนใจประมูลคลื่นหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าคลื่น 850 MHz และ 2300 MHz มีความน่าสนใจน้อย ขณะที่คลื่น 3500 MHz มีระบบนิเวศน์ที่พร้อมในการทำธุรกิจมากกว่า ขณะที่คลื่น 2100 MHz ของ NT มาให้ กสทช.เพียง 15 MHz ควรจะรออีก 2 ปี เพราะคลื่นของเอกชนจะหมดใบอนุญาตที่จะต้องคืนให้กับ กสทช.อีกจำนวน 45 MHz
ด้านนายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า บอร์ด กสทช. ต้องรีบเร่งดำเนินการคือการเตรียมความพร้อมรับมือ 3 คลื่นความถี่ของ NT ได้แก่ คลื่ความถี่ 850 MHz , 2100 MHz และ 2300 MHz ที่กำลังจะหมดในเดือน ก.ย. 2568 จะส่งผลกระทบต่อลูกค้าของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และ เอไอเอส ที่ทำสัญญาเป็นพันธมิตรในการใช้คลื่นของเอ็นทีด้วย โดยทรูใช้คลื่น 850 MHz สำหรับลูกค้าทรู และ คลื่น 2300 MHz สำหรับลูกค้าดีแทค ขณะที่ เอไอเอส ใช้คลื่น 2100 MHz.