KEY
POINTS
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ ดัชนีความพร้อม AI ปี 2566 ล่าสุดอันดับประเทศไทยตกลงมาอยู่ในลำดับที่ 37 จากเดิมอยู่ลำดับ 31 ของโลก
ซึ่งจากการวิเคราะห์ของคณะทำงานมองเกิดจากปัญหา 3 อันดับแรก คือ เทคโนโลยี ที่การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศยังไม่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น 2. การพัฒนาคน ไม่เพียงพอรองรับการเข้ามาลงทุนทั้งของบริษัทต่างชาติ และบริษัทในประเทศ และ 3. เป็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปี 62-63 ไทยบังคับใช้กฎหมาย PDPA ทำให้หลายองค์กรระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล และความล่าช้าของงบประมาณ
ทั้งนี้คณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ฯ ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฎิบัติการ AI ต่อเนื่อง โดยจัดทำโครงการที่สอดรับกับจุดเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในระยะที่ 1 มุ่งเน้นกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ และกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ
ล่าสุดได้จัดทำแผนปฏิบัติการ AI ระยะที่ 2 จากการสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมการค้า อุตสาหกรรมการค้าและการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมความมั่นคง กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต จนนำมาสู่โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 -2570) ทั้งสิ้น 6 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาศูนย์กลางเชื่อมโยงและการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย (Travel Link)
โดยโครงการดังกล่าวมุ่งสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก1. พัฒนาศูนย์กลางการเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) โดยเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชนหลายแหล่ง และข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำ Data Catalog และใช้เครื่องมือพื้นฐาน รวมถึง AI ในการประมวลผลข้อมูลหลายรูปแบบ และสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลผ่านทาง Dashboard และ Infographics 2. พัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแผนระยะถัดไป โดยปัจจุบันยังต้องการข้อมูลด้านโลจิสติกส์ อัตราค่าโดยสารของขนส่งสาธารณะต่างๆ และ3.พัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการ Chatbots การท่องเที่ยวด้วย Gen AI
2. โครงการตรวจจับการธุรกรรมการเงินด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยโครงการนี้จะออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงินต่อประชาชน โดยมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงกับระบบผู้ใช้บริการทางการเงินในภาคธนาคาร ตามมาตรา 4 (Central Fraud Registry: CFR) อีกทั้งยังพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI Model ในการตรวจจับและป้องกันการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน สามารถตรวจจับความเกี่ยวเนื่องของบัญชี และ/หรือธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย รวมทั้งสามารถกำหนดระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม
3. โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้าน AI Governance, Toolkits ใหม่ๆ รวมถึงมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยสำหรับ Sector หรือ Regulator พร้อมสร้างเครือข่ายทำงานด้านงานวิจัย AI ในประเทศ และต่างประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาและถ่ายทอดความรู้พร้อมให้คำปรึกษาการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล ทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน และการกำกับดูแล มีศูนย์ทดสอบ AI Testing สำหรับระบบ/บริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ มีกลไกสนามทดสอบ (Sandbox)
4. โครงการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย Thai Large Language Model (Thai LLM) ซึ่งได้เตรียมของบการพัฒนาจากกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 120 ล้านบาทโครงการนี้มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย (LLM) ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมายและเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์ โดย Thai LLM อาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลภาษาไทยที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายพร้อมทำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI สำหรับภาษาไทยที่เป็นโมเดลกลางสามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงานประยุกต์ทั้งในกาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาบุคลากรด้าน AI ในประเทศไทย
5. โครงการตรวจสอบและประเมินอัตลักษณ์บุคคลจากข้อมูลชีวมิติ โครงการนี้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติและส่งเสริมการนำไปใช้งาน ข้อมูลชีวมิติที่มุ่งเน้น ได้แก่ ภาพถ่ายลายม่านตา, เสียงพูด, ภาพถ่ายใบหน้า, ภาพเคลื่อนไหวใบหน้าพร้อมเสียงพูด รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับการปลอมแปลงข้อมูลชีวมิติ และบริการทดสอบระบบที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติตามเกณฑ์มาตรฐานฯ (เช่น ขมธอ. 30-2565) นำไปสู่การยกระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของประเทศไทย
และ 6. โครงการ AI-based Machine Vision เพื่อขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยโครงการนี้มุ่งส่งเสริมการขยายผลวิจัยและพัฒนาและยกระดับ AI-based Machine Vision ในการเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การแข่งขันในระดับสากล โดยนำร่องนำเทคโนโลยี AI-based Machine Vision มาช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า อีกทั้งยังส่งเสริมการขยายผลและยกระดับแพลตฟอร์ม Visual Inspection สัญชาติไทยที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยเน้นเพื่อ AI sovereignty หรือ เอกราชของ AI