ซัมซุง ลุยสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม เชื่อ AI Phone พลิกตลาดฟื้นชีพ

07 ก.พ. 2567 | 14:47 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2567 | 15:01 น.

ตลาดสมาร์ทโฟนปี 67 ทรงตัว ซัมซุง เดินหน้าขยายตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม ราคามากกว่า 2 หมื่นบาท มุ่งชูผู้นำนวัตกรรม เชื่อ AI จุดเปลี่ยนขับเคลื่อนการเติบโตตลาดสมาร์ทโฟน หลัง AI Phone รุ่นแรก “Galaxy S24 Series” กระแสตอบรับล้นยอดจองทะลัก 200%

นายสิทธิโชค นพชิบุตร รองประธานองค์กรธุรกิจโมบายล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่าภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของตลาดสมาร์ทโฟนปี 2567 นั้นในแง่ของยอดขายเป็นจำนวนเครื่องไม่เติบโตจากปีที่ผ่านมา โดยตลาดรวมมียอดขายรวมกันจำนวน 10.7 ล้านเครื่อง โดยเศรษฐกิจภาพรวมยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลา 2-3 ปี ตลาดสมาร์ทโฟนถึงจะกลับมาเติบโตขึ้น

ซัมซุง ลุยสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม เชื่อ AI Phone พลิกตลาดฟื้นชีพ

อย่างไรก็ตามท่ามกลางการชะลอตัวของตลาดสมาร์ทโฟนระดับพรีเมี่ยม (ราคาสูงกว่า 2 หมื่นบาท) ยังมียอดขายเติบโตขึ้นแม้ราคาจะเพิ่มขึ้นมา 8% เนื่องจากสมาร์ทโฟนที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังคงได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี โดยกลุ่มมีกำลังซื้อก็ยังคงซื้อหาเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม โฟน ขณะที่ตลาดสมาร์ทโฟนกลาง-ล่าง มีแนวโน้มลดลง โดยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบทำให้ผู้คนมีรายได้ลดลง ผู้คนเลยเลือกที่จะเก็บเงินสดเอาไว้กับตัว และชะลอการซื้อสมาร์ทโฟนไป

โดยปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เม็ดเงินจากยอดขายของสมาร์ทโฟนระดับบน หรือ พรีเมี่ยมราคาสูงกว่า 20,000 บาท จะมียอดขายแซงหน้าสมาร์ทโฟนระดับล่างและกลาง ที่ราคาตํ่ากว่า 20,000 บาท จากเดิมในปีที่ผ่านมามียอดใกล้เคียงกัน โดยในปีที่ผานมาตลาดสมาร์ทโฟน มีมูลค่าตลาด 3,533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.26 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสมาร์ทโฟนระดับบน 1,755 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท ส่วนสมาร์ทโฟนระดับกลางและล่างนั้น มีมูลค่า 1,778 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 6.3 หมื่นล้านบาท

ซัมซุง ลุยสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม เชื่อ AI Phone พลิกตลาดฟื้นชีพ

 “การเติบโตขึ้นของตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม ทำให้คู่แข่งขันหลายรายพยายามเข้ามาในตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยการแข่งขันสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยมนั้นยังเป็นของ 2 แบรนด์ (ซัมซุงกับ Apple) ซึ่งซัมซุงยังเป็นผู้นำเรื่องนวัตกรรม ทำให้เรามียอดขาย และส่วนแบ่งตลาดในตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นทุกปี”

ทั้งนี้ ซัมซุง มุ่งการขยายตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม และการพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยการเปิดตัว AI Phone รุ่นแรกของซัมซุง Galaxy S24 Series นอกจากจะเป็นการตอบพฤติกรรมผู้ใช้ในยุคปัจจุบันที่นำ AI มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ยังเป็นตัวกำหนดมาตรฐานใหม่ในวงการโทรศัพท์มือถือทั่วโลก โดยภายหลังจากการเปิดจองล่วงหน้าสามารถสร้างยอดจองสูงเป็นประวัติการณ์กว่า Galaxy S23 Series ถึง 200% และสูงสุดเป็นเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย ซึ่ง 1 ใน 4 ของยอดพรีออเดอร์นั้นมาจากแบรนด์คู่แข่ง

Galaxy S24 Series ได้เสริมความแข็งแกร่งทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งประกอบไปด้วย ชิปเซ็ตที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมกับแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน ทั้งยังยกระดับระบบจัดการความร้อนด้วย Vapor Chamber อีกทั้งยังผสานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย AI สำหรับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์พร้อมประสบการณ์การใช้งานกล้องสุดอัจฉริยะด้วย ProVisual Engine ที่จะช่วยยกระดับการบันทึกภาพ และมาช่วยเสริมความสร้างสรรค์ รวมไปถึงการเสริมพลังด้วย AI

ซัมซุง ลุยสมาร์ทโฟนพรีเมี่ยม เชื่อ AI Phone พลิกตลาดฟื้นชีพ

ซัมซุง ได้ทำงานร่วมกับ Google และ Microsoft โดยใช้ AI มาพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆเช่น Circle to Search ที่สามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการได้โดยไม่ต้องสลับแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ยังซัมซุงยังทำงานร่วมกับ LLM โซลูชั่นที่มอบประสบการณ์การใช้ AI ด้วยฟีเจอร์หลัก เช่น Live Translate, Voice Recorder, Samsung Notes และอื่นๆ

นายสิทธิโชค กล่าวต่อไปอีกว่าในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้านเทคโนโลยี AI ได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ไม่เพียงแค่ปฏิวัติวงการเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงวิธีที่ใช้ชีวิตและการทำงานในปัจจุบันอีกด้วย โดยมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 35% ของผู้บริโภคในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะใช้ AI ทั้งใช้กับชีวิตส่วนตัวและใช้เกี่ยวกับการทำงาน

 “3-4 ปีที่ผ่านมายังไม่มีเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ เข้ามาปฎิวัติวงการสมาร์ทโฟน ทุกคนแข่งกันแต่เรื่องกล้องหน้า กล้องหลัง แต่ซัมซุงมองว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความสามารถของสมาร์ทโฟน และผลักดันให้ตลาดมีการเติบโตขึ้น Galaxy S24 Series ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความสนใจและความต้องการของ Gen MZ มีฟีเจอร์ AI เพื่อการสื่อสารที่ ไร้พรมแดน อาทิ Live Translate และ Interpreter, มาตรฐานใหม่ ของการค้นหาสิ่งต่างๆ อย่าง Circle to Search, การแก้ไขภาพถ่ายด้วย Photo Assist, หรือฟีเจอร์ที่ช่วยในการทำงานและหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น Transcript Assist, Note Assist และ Browing Assist ซึ่งหลังจากซัมซุง จะทยอย เปิดฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาที่ตอบสนองการใช้งานกลุ่มคนเจน Z ออกมา”

สำหรับเทรนด์หลักของ AI ในปี 2567 ที่น่าสนใจโดยแบ่งเป็น 5 เทรนด์ดังนี้ เทรนด์ที่ 1: Generative AI เป็นการใช้ AI ในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ได้หลากหลาย ตั้งแต่ข้อความไปจนถึงดนตรี มีแนวโน้มว่าปี 2569 องค์กรต่างๆ มากกว่า 80% จะนำ Generative AI ในการดำเนินงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่น้อยกว่า 5% ในปัจจุบัน

เทรนด์ที่ 2: BYOAI หรือ Shadow AI เป็นแนวโน้มใหม่ในที่ทำงานโดยพนักงานนำ AI ของ ตนเองเข้ามาใช้ในการทำงาน เกิดจากเครื่องมือ AI ที่ใช้งานง่ายและราคาไม่แพง โดยผลการรายงานจาก Forrester ระบุว่า ‘60% ของพนักงานจะใช้ AI มาช่วยทำงานในด้านต่างๆ มากขึ้น’

เทรนด์ที่ 3: แอปพลิเคชั่น อัจฉริยะด้วย AI เฉพาะบุคคล ในปี 2569 1 ใน 3 ของแอปพลิเคชั่นทั้งหมดจะใช้ AI เพื่อสร้างอินเตอร์เฟชให้ผู้ใช้ได้ปรับแต่งเฉพาะบุคคลได้

เทรนด์ที่ 4: AI สำหรับการเขียนโค้ด งานบางอย่างถูกโยนไปให้ AI แก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือการเขียนโปรแกรม โดย Gartner ระบุว่า ภายในปี 2571 บริษัทซอฟต์แวร์จะใช้ AI มาช่วยในการเขียนโค้ดจาก 3 ใน 4 ของบริษัททั้งหมด ซึ่งในปี 2566 พบว่ามีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น

เทรนด์ที่ 5: การค้นหาออนไลน์ด้วย AI ซึ่ง AI ปรับปรุงการค้นหาออนไลน์โดยให้ตรงกับความชอบของผู้ใช้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น หรือการค้นหาแบบสนทนาเพื่อให้การตอบโต้กับเครื่องมือการค้นหาได้อย่างธรรมชาติและรวมไปถึงการค้นหาด้วยภาพ  หรือวิดีโอ