ศึกชิง เลขาธิการ กสทช. ผู้กุมขุมทรัพย์คลื่นมือถือ-ทีวี-ดาวเทียม แสนล้าน

19 ม.ค. 2567 | 09:07 น.

ผ่าภารกิจ เลขาธิการ กสทช. หลังมติบอร์ด กสทช. 4:3 เสียง นับหนึ่งเริ่มต้นกระบวนการสรรหารอบใหม่ เผยหน้าที่คุมคลื่นดาวเทียม-มือถือ -โทรทัศน์ - กระจายเสียง และ กทปส.แหล่งขุมทรัพย์ก้อนโต

KEY

POINTS

  • ทำแผนแม่บทคลื่นความถี่  วิทยุ ทีวี และ  แผนเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
  • เสนอแผนยุทธศาสตร์ นำคลื่นออกมาประมูล นำรายได้เข้ารัฐ
  • ประมูลคลื่นมือถือ ดาวเทียม และ กิจการโทรคมนาคม

ในที่สุด บอร์ด กสทช.ลงมติด้วยคะแนน 4:3 เสียงไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. และ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. นั่งตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. อย่างเป็นทางการ โดยมติ 4 เสียงไม่เห็นชอบมีรายชื่อดังนี้ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางสาวพิรงรอง รามสูต  นายศุภัช ศุภชลาศัย นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

ส่วนอีก 3 เสียงเห็นชอบ คือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร

 

 

สำหรับบอร์ดเสียงข้างมากจำนวน 4 เสียงที่ไม่เห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ไม่ชอบตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากคณะกรรมการ กสทช. จำนวน 7 คน ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา จึงต้องการให้ใช้กระบวนการสรรหาเหมือนครั้งที่เลือก นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

ถามว่า ทำไมหลายคนสนใจที่ต้องการนั่งตำแหน่งเก้าอี้ เลขาธิการ กสทช.

คำตอบ คือ เพราะเลขาธิการ กสทช.มีหน้าที่ขับเคลื่อนทั้งด้านกิจการโทรคมนาคม กิจการโทรทัศน์ และ  กิจการกระจายเสียง  ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.ได้ประมูลคลื่นความถี่มือถือ และ ทีวีดิจิทัล รวมกันแล้วมากกว่าหลายแสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้าง สำนักงาน กสทช. แห่งใหม่ที่แยกแคราย มูลค่า 2,700 ล้านบาทอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ที่ได้รับเงินที่ส่งเข้ากองทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์  ไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ผู้รับใบอนุญาต และ กิจการโทรคมนาคม  ร้อยละ 2.5 ของรายได้ผู้รับใบอนุญาตโทรคมนาคม ซึ่งก่อนหน้านี้ กทปส. ได้ควักเงินก้อนโตซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน  600 ล้านบาท 

 

ศึกชิง เลขาธิการ กสทช. ผู้กุมขุมทรัพย์คลื่นมือถือ-ทีวี-ดาวเทียม แสนล้าน

ผ่าแผนขับเคลื่อนปี 2567

สำหรับสายงานหลักที่ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ของ กสทช. หนีไม่พ้นเรื่องประมูลคลืนมือถือ - กิจการกระจายเสียง และ กิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นตัวเฟืองจักรในการนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลเพื่อแปลงเป็นสินทรัพย์  ขณะที่ นพ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสำนักงาน กสทช. ในปี 2567 ด้วยการผลักดัน 9 นโยบาย รายละเอียดดังนี้

  • เร่งดำเนินการนโยบายหนึ่งภาคหนึ่งผู้ให้บริการ MVNOs ภายในปี 2569 โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มผู้แข่งขันในตลาดอย่างน้อย 7 ราย เพื่อเพิ่มทางเลือกและการให้บริการกับประชาชน ขณะเดียวกันส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์ม MVNA/MVNE ที่เชื่อมต่อง่าย ลดอัตราอัตราค่าบริการภายในภูมิภาคให้ถูกลงอย่างน้อย 20% จากแผนส่งเสริมการขายที่ถูกที่สุดของผู้ให้บริการระดับชาติ (national carrier) อัตราค่าบริการนอกพื้นที่ และค่าธรรมเนียมระหว่างภูมิภาค (inter-regional charge) ที่แตกต่าง เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของภาคนั้น ๆ โดยมีเงื่อนไขที่ไม่อนุญาตให้ผู้บริการระดับชาติที่เป็นเจ้าของโครงข่ายถือหุ้นในบริษัทผู้ให้บริการระดับภูมิภาค (regional carrier) เกิน 25%
  •  พัฒนา USO net เป็นศูนย์บริการดิจิทัล วันสต็อป ของรัฐ (Government Digital Service Market and Streaming Center) ภายในปี 2569 โดยยกระดับศูนย์ USO ให้เป็นศูนย์บริการประชาชนสำหรับการบริการดิจิทัล ของภาครัฐ ด้วยบริการอื่น ๆ เช่น Telemedicine สำนักงานประกันสังคม กรมการจัดหางาน คิวทำพาสปอร์ต และอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่าย
  •  ออกระเบียบตามมาตรา 57 วรรค 2 ให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนบุคคลของคนไทยสามารถเข้าถึง บริการดิจิทัลของรัฐฟรี เช่น ใบขับขี่ หมอพร้อม digital wallet และ mobile id เป็นต้น โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ
  •  ดำเนินการสร้างระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเชื่อมกับระบบการสั่งการของรัฐบาล
  •  จัดทำ National Single Number 191 เบอร์เดียวแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายทั่วไทย เป็นการใช้เบอร์ฉุกเฉินเดียวกับรัฐบาล
  •  พัฒนาระบบ Traffy Fondue แจ้งบริการของสำนักงาน กสทช. และเหตุด่วนเหตุร้ายทางไซเบอร์ โดยจะปรับปรุงระบบการบริการให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการแจ้งเหตุ ผ่านการนำนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ให้ทุนเข้าหลอมรวมกัน เพื่อรองรับการบริการประชาชน
  • ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อการเข้าถึงของผู้พิการทางสายตาและเสียง
  •  ทำให้ศูนย์ USO net เป็นศูนย์ช่วยเหลือคนพิการในการเข้าถึงบริการดิจิทัล
  •  ส่งเสริมให้ศูนย์ USO เป็นศูนย์กลาง

เปิดประมูลคลื่น 3500 MHZ ปลายปี 2567-ต้นปี 2568 

ขณะที่ด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์  กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กำลังศึกษา  ความเป็นไปได้ในการนำคลื่น 3500 MHz จำนวน 100 MHz ช่วงคลื่น 3600 MHz-3700 MHz จากคลื่นทั้งหมดที่มีประมาณ 400 MHz เพื่อนำมาให้กลุ่มอุตสาหกรรมประมูลทำไพรเวท 5G ดังนั้นหากผลการศึกษาพบว่ามีความต้องการของตลาดและมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลก็จะส่งผลการศึกษาและผลการหารือกับภาคส่วนต่างๆให้สำนักงานกสทช.ศึกษาถึงแนวทางในการประมูลอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสนอบอร์ดกสทช.พิจารณา หากมีความเห็นชอบร่วมกัน คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567-ต้นปี 2568 

ดันต้นแบบ "แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ" 

ขณะที่ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีนางสาวพิรงรอง รามสูตร รับหน้าที่ขับเคลื่อนกิจการทีวีวางโรดแมป  ส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (ออนไลน์ ไมเกรชั่น) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 ภายใต้โครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงฯ หลังสิ้นสุดใบอนุญาต ในปี 2572 เพื่อประกอบการวางแนวทางและนโยบายรองรับกิจการโทรทัศน์ในอนาคตนั้น กำลังอยู่ระหว่าง "กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง" วางต้นแบบ "แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ" ที่จะบูรณาการเนื้อหาจาก  "ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และ ข้อมูลผู้บริโภค" ให้อยู่ในระบบเดียวกัน และบริหารจัดการบริการเสริมที่วิ่งบนโครงข่าย (Over the top : โอทีที) ที่ถือเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นช่องทางในการเผยแพร่เนื้อหาสำคัญและกำลังได้รับความนิยม

กำหนดหลักเกณฑ์ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในประเทศ

ส่วนกิจการกระจายเสียง ซึ่งมี พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญกรรมการ กสทช. กิจการกระจายเสียง กำลังผลักดันประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) และ ปลอดล็อกปัญหารบกวนสัญญาณกิจการวิทยุกระจายเสียง 

ผ่าบทบาทอำนาจหน้าที่เลขาธิการ กสทช.

ในส่วนอำนาจหน้าที่ของ เลขาธิการ กสทช. มีดังต่อไปนี้

  • จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุ แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และแผนเลขหมายโทรคมนาคม และดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว แต่แผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  •  กำหนดการจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม
  •  กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
  • พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคมในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือในกิจการวิทยุคมนาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว ในการนี้ กสทช. จะมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้อนุญาตแทน กสทช. เฉพาะการอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดก็ได้
  • กำหนดหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปราศจากการรบกวนซึ่งกันและกัน  รายละเอียด (คลิก) 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.มีบทบาทในการคุมขุมทรัพย์คลื่นความถี่มือถือ-ดาวเทียม และ กิจการโทรทัศน์ เพราะก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่า การประมูลคลื่นความถี่ 3จี,4 จี และ 5 จี มากกว่า 320,333 ล้านบาท รวมถึงการประมูลทีวีดิจิทัล  24 ช่อง มูลค่ารวม 50,862 ล้านบาท  และ ล่าสุดประมูลสิทธิในการเข้าใช้ในวงโคจรดาวเทียม ได้เงินเข้ารัฐจำนวน 800 ล้านบาท 

นั่นจึงเป็นที่มาที่มีผู้สมัคร  จำนวน 9 คน  เสนอตัวเข้าสมัครชิงเก้าอี้รายชื่อเลขาธิการ กสทช. ดังรายชื่อต่อไปนี้

  •  นายพีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ไม่ได้เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ 
  • นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช. รักษาการเลขาธิการกสทช.
  • พ.อ.ดร.ธนัทเมศร์ ภัทรณรงค์รัศม์ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด)
  • รศ.พิสิฐ บุญศรีเมือง อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
  • นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
  • ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทย
  • นางสุรางคณา วายุภาพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA
  • นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม