5 ข่าวเด่นปมร้อนในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประจำปี 2566

29 ธ.ค. 2566 | 08:40 น.
641

5 ข่าวเด่นปมร้อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 2566 กสทช. ควัก 600 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก, ปิดดีลTRUE-DTAC, บอร์ด กสทช.แบ่ง 2 ขั้ว, "ไตรรัตน์-ภูมิสิษฐ์" ฟ้องบอร์ด และ AIS ซื้อ 3BB

ตลอดปี 2566 ข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีหลายเรื่องราวที่มีความเคลื่อนไหวและถูกจับตาอย่างต่อเนื่องซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เลือก 5 ข่าวเด่นในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ได้รับความสนใจ นำมามัดรวมข่าวเด่นที่ได้รับความสนใจ ติดตามอ่านจากบรรทัดถัดจากนี้

กสทช.ควัก 600 ล้านบาทสนับสนุนถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

ประเทศไทยเกือบจะไม่ได้ชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2565 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เนื่องจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ไม่มีเงินสนับสนุนเพียงพอที่จะซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ต้องพึ่งพายืมเงินจ่าย กทปส. (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ) แม้บอร์ด กสทช.บางคนไม่เห็นด้วยนำเงิน 600 ล้านบาทไปสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 แต่สุดท้ายผ่านโหวตด้วยมติ 4:2 เพื่อถ่ายทอดสดทั้งหมด 64 คู่  ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการคืนความสุขให้กับประชาชน

หลัง บอร์ด กสทช.ไฟเขียวนำเงินไปสนับสนุนแทนที่จะได้รับชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022  แบบราบรื่น แต่ปรากฏว่า กกท. กลับไปลงนามฯกับ ‘กลุ่มทรู” สนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฯ เป็นเงิน 300 ล้านบาทในแพลตฟอร์มของ ทรูวิชันส์ ทั้งหมด สุดท้ายแม้จะไม่ราบรื่นแต่ก็จบลงด้วยดี เมื่อ ทรู คืนโควต้าถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายจำนวน 16 นัด ให้ กกท. นำมาจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน

 

กสทช. อนุมัติวงเงิน 600 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

ปมเลือกเลขา กสทช.ชนวนแตกแยกแบ่งบอร์ด 2 ขั้ว

ร่องรอยความแตกแยกในบอร์ด กสทช. เริ่มมีเค้าลางไม่ลงรอยตั้งแต่เงินสนับสนุนฟุตบอลโลก 2022 กรณีประธาน กสทช.ใช้สิทธิดับเบิ้ลโหวตปิดดีล “TRUE-DTAC” 3:2 รับทราบรวมกิจการ “TRUE-DTAC”

แต่ความแตกแยกของ 7 กรรมการ กสทช. แบ่งเป็น 2 ขั้ว เกี่ยวกับประเด็นการเลือกเลขาธิการ กสทช. กลายเป็นประเด็นแตกหักเพราะความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้การประชุมบอร์ดล่มแล้วล่มอีก  

บอร์ดเสียงข้างมาก

  • พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
  • ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต
  • รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
  • รองศาสตราจารย์สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

บอร์ดเสียงข้างน้อย

  • ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤษ์ ประธาน กสทช.
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์
  • พลตำรวจเอก ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร

“ไตรรัตน์-ภูมิสิษฐ์” ฟ้องบอร์ด กสทช.

นายภูมิสิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ส่งหนังสือร้องเรียนถึง ประธานวุฒิสภา ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ ประธาน กสทช. ที่อาจจะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามม.7 ข.(12)  และกระทำการฝ่าฝืนตามม.8 และ 18 รวมถึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตาม ม. 26 แห่งพรบ.กสทช. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมส่งผลให้ นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่งบอร์ดกสทช.

ขณะที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และ รองเลขาธิการ กสทช. ยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ยื่นฟ้องคณะกรรมการและพวกรวมจำนวน 5 คน กรณีสอบสวนข้อเท็จจริงกล่าวหาโจทก์เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายและดำเนินการให้มีการเปลี่ยนรักษาการเลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ โดยมิชอบ

 

 

 

“TRUE-DTAC” ปิดดีลแสนล้านสำเร็จ

กว่าที่ TRUE หรือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ DTAC หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กว่าจะปิดดีลสำเร็จลุ้นกันตัวโก่งกันเลยทีเดียวเพราะบอร์ด กสทช. จำนวน 5 คนแรกที่ได้รับโปรดเกล้าฯ มีความเห็นเรื่องไม่ตรงกันในหลายประเด็น จนในที่สุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 บอร์ด กสทช.มีมติ ห็นชอบ เสียง 3:2 เรื่องควบรวมกิจการ 

ไทม์ไลน์ควบรวมธุรกิจ

  • 20 พ.ย. 2564 บอร์ดทรูและดีแทค แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ควบรวมกิจการ
  • 18 ก.พ. 2565 บอร์ดทรูและดีแทค อนุมัติการควบรวมกิจการ
  • 20 ต.ค. 2565 บอร์ดกสทช.มีมติ เห็นชอบ เสียง 3:2 เรื่องควบรวมกิจการ
  • 12 ม.ค. 2566 แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนชื่อ หลังควบรวมเป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 
  • 24 ม.ค.2566 ทรูรับซื้อหุ้นคืน 51.5 บาทต่อหุ้น,ดีแทครับซื้อหุ้นคืน 50.50 บาทต่อหุ้น
  • 15 ก.พ. 2566 แจ้งเปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์เดิมจาก “TRUE” เป็น “TRUEE”
  • 22 ก.พ. 2566 เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นรับทราบความคืบหน้าอนุมัติควบรวมกิจการ 
     

TRUE-DTAC แถลงข่าวควบรวมกิจการสำเร็จ

 

“AWN-3BB” ปิดจ็อบอินเทอร์เน็ต “AIS” ผงาดเบอร์หนึ่งเน็ตบ้าน

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการ กสทช. มีมติอนุญาติ ให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS รวมธุรกิจกับ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ด้วยคะแนน 4 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

  • พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
  • ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต
  • รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
  • รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (งดออกเสียง)

 

AIS-3BB แถลงข่าวหลังปิดดีลสำเร็จทำตลาดภายใต้ชื่อ “AIS – 3BB FIBRE 3”


ขณะที่ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤษ์ ประธาน กสทช. และ พล.ต.อ.ณัฐธร ไม่ได้อยู่ในวงโหวตอนุญาตเหตุความเห็นไม่ตรงกันการอนุมัติรวมกิจการครั้งนี้ส่งผลให้ AIS ขึ้นเบอร์ 1 เน็ตบ้านมีจำนวนผู้ใช้งาน  4.69 ล้านครัวเรือน.