บีบีไอเอ็กซ์ ลงทุนขยายดาต้าเซ็นเตอร์ แห่งที่ 4 ในไทย

27 พ.ย. 2566 | 18:16 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2566 | 18:52 น.

บีบีไอเอ็กซ์ ไทยแลนด์ เปิดตัวศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งที่ 4 ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “BBIX Bangkok No.4 Center”

บริษัท บีบีไอเอ็กซ์ ไทยแลนด์ จำกัด (บีบีไอเอ็กซ์ ไทยแลนด์) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด (ทรู ไอดีซี) และบีบีไอเอ็กซ์ ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต หรือดาต้าเซ็นเตอร์ แห่งที่ 4 ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “BBIX Bangkok No.4 Center”

บีบีไอเอ็กซ์ ลงทุนขยายดาต้าเซ็นเตอร์ แห่งที่ 4 ในไทย

ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ข้อมูล TELEHOUSE Bangkok ของบริษัท เทเลเฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้เครือบริษัท เค ดี ดี ไอ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น พร้อมให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเสรี (Internet Exchange: IX) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

 

ปัจจุบันบีบีไอเอ็กซ์มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอยู่จำนวน 3 แห่ง โดยการเปิดศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลฯ แห่งที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ถนนพระราม9 ใจกลางกรุงเทพฯ จะช่วยให้ผู้ให้บริการคอนเทนต์ (Content Service Provider) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) ในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถเข้าถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลของบีบีไอเอ็กซ์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นายฮิเดโตชิ อิเคดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีไอเอ็กซ์ ไทยแลนด์ เผยว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สามารถจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งที่ 4 ของบีบีไอเอ็กซ์ ไทยแลนด์ ที่ศูนย์ข้อมูลของเทเลเฮ้าส์ (Telehouse) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการขยายการบริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต

บีบีไอเอ็กซ์ ลงทุนขยายดาต้าเซ็นเตอร์ แห่งที่ 4 ในไทย

รวมถึงเป็นการขยายบริการที่มีผู้สนใจทั่วมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ โทรคมนาคม ธุรกิจระดับสากล ตอกย้ำความสามารถของประเทศ ตลอดจนต่อยอดให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นศูนย์กลางข้อมูล ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างมั่นคง”

 

นายเคน มิยาชิตะ กรรมการผู้จัดการ เทเลเฮ้าส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกับบีบีไอเอ็กซ์เพื่อขยายการเชื่อมต่อ IX ความร่วมมือนี้สามารถยกระดับ Ecosystem ของเราให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อโครงข่ายในภูมิภาคที่ผสานผู้ให้บริการหลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ลูกค้าของเราสามารถแลกเปลี่ยนการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีความหน่วงต่ำและมีความปลอดภัยสูง อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลของไทย”