ความแตกต่างระหว่าง “บิตคอยน์” VS “สกุลเงินดิจิทัล CBDC”

20 ต.ค. 2566 | 15:41 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2566 | 15:56 น.

สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ได้จุดประกายความสนใจในบล็อกเชนแก่หมู่ธนาคารกลางของหลายประเทศ รวมถึงได้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในวงการคริปโต

โดยในวงการคริปโต ต่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับ CBDC ตั้งแต่การมองว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการควบคุมของรัฐบาล ไปจนถึงการมองว่า CBDC เป็นเพียงแค่ความพยายามของธนาคารกลางในการคงเป็นส่วนนึงของระบบการเงิน ในบทความนี้ เราจะสำรวจข้อโต้แย้งว่า CBDC ไม่น่าจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในขณะที่บิตคอยน์มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่โดดเด่น

ความแตกต่างระหว่าง “บิตคอยน์” VS “สกุลเงินดิจิทัล CBDC”

บิตคอยน์เป็นระบบการเงินและสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากตัวกลางในการเข้าถึงเครือข่าย ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในเครือข่ายและมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้อย่างอิสระ การเปิดกว้างดังกล่าวนี้ส่งเสริมชุมชนที่ประกอบไปด้วยนักพัฒนา นักขุด และผู้ใช้งาน ที่เติบโตอยู่ตลอดเวลาและขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามกัน CBDC เป็นระบบการเงินแบบปิดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล การรวมศูนย์ของ CBDC อาจขัดขวางความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาได้ช้ากว่าระบบเปิดเช่นบิตคอยน์

 

บิตคอยน์ไม่เพียงแต่เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดของสกุลเงินดิจิทัล แต่ยังได้เห็นการนำไปใช้และการเติบโตในโลกแห่งการเงินอีกด้วย จากมุมมองทางด้านการเงิน บิตคอยน์ได้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญในการถูกนำมาใช้เป็นเงินที่ชำระหนี้ทางกฎหมาย (Legal Tender) ในประเทศเอลซัลวาดอร์ มีตลาดการซื้อขายที่มีสภาพคล่องสูง และการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ที่เติบโตไปทั่วโลก

ในทางตรงกันข้าม โครงการ CBDC ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยหลายโครงการยังอยู่ในขั้นแอลฟาหรือระยะเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนา ณ วันที่ 25 กันยายน 2566 คุณ Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปได้กล่าวว่า เงินยูโรดิจิทัล ยังต้องรอการดำเนินการอีกอย่างน้อยสองปี

ส่วนประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ยังคงอยู่ในช่วงทดลองการใช้งาน โดยเน้นที่การสร้างกรณีการใช้งานเบื้องต้นกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดเป็นหลัก 

นโยบายการเงินของบิตคอยน์ ได้ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก บังคับใช้ฮาร์ดแคปจำนวน 21 ล้านเหรียญ และมีกระบวนการปล่อยเหรียญสู่ตลาดที่แน่นอน ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายการเงินที่รัฐบาลไม่เคยนำเสนอในอดีตมาก่อน และธนาคารกลางไม่น่าจะนำโมเดลที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลางมาใช้ เนื่องจากอำนาจในการควบคุมเงินนั้นมีคุณค่าทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้บิตคอยน์ จึงไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ คล้ายกับทองคำในอดีต แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เหนือกรอบการเงินก่อนหน้านี้อีกด้วย