เมื่อไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางในแต่ละประเทศ จึงทำให้เป็นระบบการเงินแบบไร้พรมแดน (borderless) ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงแค่เรามีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบได้แล้ว อย่างไรก็ตามเรายังคงไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า คริปโตฯ เป็นระบบกระจายศูนย์อย่างแท้จริง เพราะเรายังเห็นการรวมศูนย์อยู่ในบางประการ
ยกตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญใน การพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงการสร้างตลาดและระบบนิเวศของคริปโตฯ มาตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่ Whitepaper ของ Bitcoin ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก
การที่ทาง ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC) เลือกที่จะควบคุมอุตสาหกรรม คริปโตฯ ด้วยการใช้กำลังบังคับให้ปฏิบัติตาม เช่น การกำหนดให้สินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายการเป็นหลักทรัพย์โดยไม่มีแนวทางหรือข้อแนะนำที่ชัดเจน ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐฯ และอาจทำให้ประเทศ สูญเสียตำแหน่งผู้นำในด้านคริปโตฯ และเทคโนโลยีบล็อกเชนไปได้
ส่วนในทวีปเอเชีย เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 ทาง ก.ล.ต. ฮ่องกง (SFC) ได้ประกาศระเบียบและกฎเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการแก่นักลงทุนรายย่อยอย่างเป็นทางการ ซึ่งสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินธุรกิจก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2566 จะสามารถดำเนินการต่อไปได้อีก 12 เดือนภายใต้ข้อตกลง Transitional agreement โดยจะต้องมี ‘การดำเนินการจริง’ และ ‘สถานที่ประกอบธุรกิจจริง’ ในฮ่องกงก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2566 เช่น มีออฟฟิศอยู่ในประเทศฮ่องกง รวมถึง บุคลากรสำคัญจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในประเทศด้วยเป็นต้น แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่สถานที่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลไม่ได้อยู่ในฮ่องกง แต่มีความประสงค์ที่จะให้บริการแก่ประชากรฮ่องกงจำเป็นต้องขอใบอนุญาตเช่นกัน
นอกเหนือจากนี้แล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญในการขอใบอนุญาตคือการที่ กรรมการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมถึง เจ้าของผลประโยชน์ขั้นสูงสุด จะต้องผ่านการทดสอบ ‘ความพอดีและความเหมาะสม’ (Fit and Proper Test) ของ SFC
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีผู้ได้รับใบอนุญาตสำหรับการให้บริการแก่นักลงทุนรายย่อยในฮ่องกง แต่การมีระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศมากขึ้น