กางกฎหมายไขปมงบประมาณปี 2567 กสทช. กว่า 5.2 พันล้านบาท

10 ต.ค. 2566 | 13:18 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2566 | 13:29 น.

กางกฎหมายไขปมงบประมาณปี 2567 กสทช. กว่า 5.2 พันล้านบาท หลัง “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” ชงบอร์ดดีอี ไม่ผ่านบอร์ดใหญ่ ส่งผลบอร์ดเสียงข้างมาก 4 กสทช. ทำบันทึกข้อความคัดค้านด่วน

ปมขัดแย้งใน กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ มีเรื่องราวเกิดความเห็นต่างหลายเรื่อง ล่าสุด  นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้ส่งเรื่อง การบรรจุวาระเพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ของ สำนักงาน  กสทช. เพื่อเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งถึง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เพื่อขอนุมัติงบประจำปีจาก บอร์ด ดีอี จำนวน 5,282.5046 ล้านบาท

โดยการยื่นขออนุมัติงบประจำปี 2567 ครั้งนี้ “ไตรรัตน์” ได้อ้างถึงพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมมาตรา 57 วรรคห้า บัญญัติให้สำนักงาน กสทช.เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิและสังคมแห่งชาติ ก่อนวันเริ่มปีงบประมาณไม่น้อยกว่า 90 วัน

บอร์ดเสียงข้างมาก กสทช.คัดค้าน

หลัง ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ถัดจากนั้น บอร์ด กสทช. เสียงข้างมาก  4 คน ประกอบด้วย

  • พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ
  • น.ส.พิรงรอง รามสูต
  • นายศุภัช ศุภชลาศัย
  • นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

ได้ส่งบันทึกข้อความถึง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ขอให้ทบทวนการนำเสนอ เรื่องการบรรจุวาระพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 5,282.5046 ล้านบาท ของ กสทช.เนื่องจากยังไม่ผ่านมติ บอร์ด กสทช.อย่างเป็นทางการ

 

กางกฎหมายไขปมงบ กสทช.

เมื่อพลิกไปดู  พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมมาตรา 57

ให้สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1)รับผิดชอบในการรับและจ่ายเงินรายได้ของสำนักงาน กสทช.

(2) จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอ กสทช.อนุมัติโดยรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช.ให้หมายความรวมถึงรายจ่ายใดๆ อันเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน และสำนักงาน กสทช.งบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวต้องจัดทำโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า การประหยัด และ ประสิทธิภาพ รายการหรือ โครงการใดที่ตั้งงบประมาณไว้แล้วและมิได้จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณนั้น ให้รายการหรือโครงการนั้นเป็นอันพับไปและให้สำนักงาน กสทช. นำส่งงบประมาณสำหรับรายการหรือโครงการ ดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดิน

(3)ตรวจสอบและติดตามการใช้คลื่นความถี่

(4)  รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหรือเสนอความเห็นต่อ กสทช. เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

* มาตรา 59 วรรคหนึ่ง (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

 (5) ศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับคลื่นความถี่ การใช้คลื่นความถี่การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

 

(6) รับผิดชอบงานธุรการของ กสทช. กสท. กทค. และคณะกรรมการบริหารกองทุน

(7) ปฏิบัติการอื่นตามที่ กสทช. กสท. และ กทค. มอบหมาย

ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีตาม (2) ก่อนที่สำนักงาน กสทช. จะเสนอ กสทช. อนุมัติ ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็น และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าว เว้นแต่งบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนของคณะกรรมการติดตามและประเมินผล

การปฏิบัติงาน ให้สำนักงาน กสทช. เสนอไปยังคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุง ในกรณีที่สำนักงาน กสทช. หรือคณะกรรมการ

ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงน แล้วแต่กรณี ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวพร้อมความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อ กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป

เมื่อ กสทช. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช.ตามวรรคสองแล้วให้สำนักงาน กสทช. เปิดเผยงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นพร้อมทั้งรายการหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ประชาชนทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศหรือวิธีการอื่นที่เข้าถึงได้โดยสะดวก.