รู้จัก “บล็อกเชน” หลัง “เศรษฐา” ปักหมุดใช้กับเงินดิจิทัล 10000 บาท

08 ก.ย. 2566 | 08:49 น.
853

รู้จัก “บล็อกเชน” หลัง “เศรษฐา ทวีสิน" ยืนยันปักหมุดใช้กับเงินดิจิทัล 10000 บาท ขณะที่ รมว.ดีอีเอส แจงเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย มีความโปร่งใส เนื่องจากตรวจสอบแบบเรียลไทม์ได้

แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ของพรรคเพื่อไทย คาดเริ่มโครงการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 ผ่านเทคโนโลยี บล็อกเชน หรือ Blockchain ต่อมามีกระแสข่าวว่าจะเปลี่ยนมาใช้ผ่านแอปฯเป๋าตัง เพราะประชาชนคุ้นเคยกับการใช้งานแล้ว จนในที่สุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาย้ำชัดว่า แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท จะใช้จ่ายผ่านเทคโนโลยี บล็อกเชน หรือ Blockchain เท่านั้น

ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยหลังจากเข้ากระทรวงดีอีเอส เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ว่าเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ยังคงเป็น “บล็อกเชน” เหมือนเช่นเดิม เพราะบล็อกเชน สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวการใช้จ่ายแบบเรียลไทม์และโปร่งใส  

รู้จักบล็อกเชน

บล็อกเชน คือ ระบบเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่งที่อาศัยการจัดเก็บข้อมูลในหลาย ๆ ที่พร้อม ๆ กันแล้วผูกเข้าด้วยกันเหมือนห่วงโซ่ เพื่อป้องกันการเข้าไปแก้ไข จึงกลายเป็นรูปแบบของระบบจัดเก็บข้อมูลระบบหนึ่งที่น่าเชื่อถือสูง (หากไม่มีช่องโหว่)

บล็อกเชน ประกอบด้วย 4 ส่วนหลักสำคัญ คือ

1. กล่องเก็บข้อมูล หรือ Block ทำหน้าที่กระจายไปให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเก็บเอาไว้ โดยข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ และทุกๆ ครั้งที่มีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นจะมีการสร้างกล่องใหม่ขึ้นมา

 2. จากนั้นจึงนำกล่องมาผูกเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Chain โดยการผูกด้วยวิธี Hash Function ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของไฟล์ที่ใช้ในการ Verify หรือยืนยันความถูกต้องจากข้อมูลที่แต่ละคนถือเอาไว้ ถือเป็นตัวแทนของข้อมูลต้นฉบับ ซึ่งค่าที่ได้จากการ Hash นี้มีโอกาสที่ซ้ำกันยากมาก จึงเป็นคุณสมบัติที่เชื่อมั่นได้ในการนำมาใช้ยืนยัน (Verify) ข้อมูลที่แต่ละบุคคลถือไว้

3. การตกลงร่วมกัน หรือ Consensus เพื่อกำหนดข้อตกลงที่ต้องเห็นพ้องร่วมกันด้วยอัลกอริทึมต่างๆ แล้วแต่การตกลง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องกฎและเครื่องมือที่ใช้ในเครือข่ายของผู้ใช้

4. ขั้นตอนการตรวจสอบ หรือ Validation เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นร่วมกัน ซึ่งกระบวนการตรวจสอบต้องเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการทำธุรกรรมใดๆ เกิดขึ้นจะสร้างกล่องใหม่ขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเชื่อมโยงกล่องนั้นเข้ากับห่วงโซ่เดิมที่ผูกรวมกัน โดยมีการยืนยันตัวเองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น ซึ่งข้อมูลธุรกรรมที่สร้างใหม่จะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ใช้คนอื่นๆ ในห่วงโซ่ผ่านข้อตกลงที่มีร่วมกันก่อนหน้านี้ และระบบจะทำการตรวจสอบ กระนั้นจึงทำให้เทคโนโลยี Blockchain ได้รับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและความถูกต้องสูง

ข้อดี บล็อกเชน

1. Blockchain เปรียบเสมือนการเก็บข้อมูลแบบหนึ่งซึ่งสามารถแชร์ไปได้เป็นห่วงโซ่ หรือ Chain โดยที่ทราบได้ว่าใครเป็นเจ้าของของข้อมูลนั้นๆ ดังนั้นเมื่อข้อมูลถูกบันทึกไว้ใน Blockchain ไม่สามารถถูกปลอมแปลงหรือถูกแก้ไขได้ และสามารถติดตามลำดับการบันทึกข้อมูลย้อนหลังทั้งหมดได้อย่างโปร่งใส จึงทำให้ยากต่อการทุจริตเพราะข้อมูล

2. ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในกล่องที่อยู่บน Blockchain จะไม่ถูกควบคุมโดยใครคนใดคนหนึ่ง จะถูกกระจายไปจัดเก็บบนฮาร์ดแวร์หลายๆ เครื่อง ซึ่งเราจะเรียกฮาร์ดแวร์ต่ละชุดนี้ว่า Node เมื่อจุดใดจุดหนึ่งเล็กๆ ในระบบเสีย จะไม่ส่งผลทำให้ระบบทั้งระบบล่ม

3. เมื่อธุรกรรมหรือสัญญาถูกจัดเก็บในรูปของข้อมูล การนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อบังคับให้ทำตามสัญญาหรือธุรกรรมต่างๆ เหล่านั้นก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ และยังนำไปประยุกต์ใช้รูปแบบอื่น เช่น การแจ้งเตือนเมื่อสัญญากำลังจะหมดอายุได้ เป็นต้น และเมื่อการทำธุรกรรมหรือสัญญาเหล่านี้ไม่ต้องมีตัวกลาง ก็จะสามารถประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายลงไปได้อีกมาก

4. รองรับการเข้ารหัสสำหรับข้อมูลแต่ละชุดได้ ดังนั้นถึงแม้ข้อมูลของเราจะถูกกระจายไปยัง Node อื่นๆ และอาจถูกบางคนมองเห็น แต่คนอื่นๆ ก็จะไม่สามารถถอดรหัสข้อความของเราได้ นอกจากตัวเราเองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเหล่านี้ที่เราอนุญาตให้เข้าถึงได้เท่านั้น

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล