รัฐ-เอกชน แห่บูม AI ขับเคลื่อนธุรกิจ-เศรษฐกิจดิจิทัล

19 ส.ค. 2566 | 10:41 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 10:50 น.

รัฐ-เอกชน แห่บูม AI เชื่อเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนคเทค เปิดผลสำรวจองค์กรไทยประยุกต์ใช้เพียง 15% ระบุการขาดแคลนบุคลากร-ข้อมูล ความท้าทายพัฒนา AI ไทย พร้อมเผยแผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทย 1 ปี เร่งพัฒนาคน 3 ระดับ กลุ่มกสิกร จัด KBTG Techtopia เตรียมพร้อมคนสายเทค

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เปิดเผยว่า ตัวเลขการประยุกต์ใช้ AI ภายในประเทศยังมีสัดส่วนที่น้อย โดยคิดเป็น 15% ขององค์กรที่มีการประยุกต์ใช้ AI อย่างไรก็ตาม 56.6% ขององค์กรมีแผนที่จะใช้งาน และ 28.2% ยังไม่มีความต้องการใช้งาน หรือ ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม

รัฐ-เอกชน แห่บูม AI ขับเคลื่อนธุรกิจ-เศรษฐกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ตามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตัวเลขโครงการภาครัฐและเอกชนด้าน AI มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมองเห็นโอกาสที่จะนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร แต่โอกาสเหล่านี้จะสร้างมูลค่าหรือประโยชน์ได้จริงหรือไม่ยังต้องอาศัยหลากหลายบริบทในการขับเคลื่อน

 สำหรับความท้าทายที่ประเทศยังต้องเผชิญในการพัฒนา AI ได้แก่ การขาดบุคลากร ขาดแคลนข้อมูล หรือ มีข้อมูลไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะการเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ที่ต่างหน่วยงานเก็บแยกกัน ไม่สามารถเข้าถึง ไม่สามารถนำมาผนวกรวมกันเป็น Big Data เพื่อพัฒนา AI ให้ตอบโจทย์ประเทศไทยได้ นอกจากนี้ ยังขาดผู้พัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศด้วยความง่าย และพร้อมใช้งานได้ทันที แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความไม่แน่นอนในพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี

 ดร.ชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ประเทศไทยมีการประกาศแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 -2570) โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มช่องว่างระบบนิเวศ AI ของไทย ส่งเสริมการพัฒนาและ ประยุกต์ใช้ AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การสร้างจริยธรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับการใช้ AI และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน 2. โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศ 3. สร้างกำลังคน สนับสนุนการศึกษา พัฒนาทักษะ เพื่อผลิตบุคลากรด้าน AI 4. วิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5. ส่งเสริมการใช้งาน AI ในภาครัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนากลไกในการพัฒนาธุรกิจ

แผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทย ส่งผลให้ดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย (Government AI Readiness Index) ในปี 2022 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 31 จากลำดับที่ 55-60 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันแผนปฏิบัติการด้าน AI ประเทศไทย ดำเนินงานมาได้เกือบ 1 ปี มีผลการดำเนินงานสำคัญ อาทิ การพัฒนากำลังคน AI โดย แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นสูง (AI Profession) ผ่านการอบรมพัฒนาทักษะด้าน AI และการประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม AI for Thai โดยเนคเทค สวทช.

2. กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นกลาง (AI Engineer) ผ่านโครงการ Super AI Engineer โดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ทั้งอบรมทฤษฎีพื้นฐาน การประยุกต์ใช้งาน ทดลองฝึกงานในสถานการณ์ประกอบการจริง และ3 กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นต้น (AI Beginner) ผ่านหลักสูตร AI Sandbox ของสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ AI Engineering Institute; AIEI)

ล่าสุดเนคเทค ได้ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดงาน “AI Thailand Forum 2023” มหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง ร่วมกันจัดขั้นเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งเทคโนโลยี AI จะเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่นำพาการพัฒนา สร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ในงานดังกล่าวยังมีการเปิดตัว Chatbot อัจฉริยะสัญชาติไทยภายใต้ชื่อ OpenThaiGPT: Library AI OpenSource (LLM) เวอร์ชั่น 1 ที่เปิดให้ผู้ใช้งานทุกท่านดาวน์โหลดไปใช้งานอย่างไม่จำกัด สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา Generative AI ในประเทศ และหน่วงานภาครัฐและเอกชน 15 หน่วยงาน ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนากระบวนการตรวจวัดที่เป็นมาตรฐาน (Thailand AI Standard) เพื่อสร้างเป้าหมายตามแนวทางจริยธรรมของการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีด้าน AI ของไทย

 ด้านนายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า KBTG ได้จัดงาน KBTG Techtopia เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในวงการไอที ผู้เข้าร่วมงานจะได้ไปผจญภัยในเมืองเทคโนโลยี พร้อมสำรวจเทรนด์ที่มาแรงที่สุดของปี โดยในปีนี้จัดขึ้นในธีม “Across the AI-Verse” รวบรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยสายเทคฯ สามารถคว้าโอกาสสู่การเติบโตและเอาชนะความท้าทายใหม่ๆ ผ่านการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากสถาบันและองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ทั้งนี้งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 กันยายนนี้ ณ อาคาร KBTG เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ