NIA ประกาศผล “สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก 2023”

01 ส.ค. 2566 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2566 | 12:19 น.

NIA ประกาศผล "สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก 2023" ตอกย้ำความสำเร็จสร้างเมล็ดพันธุ์เถ้าแก่น้อย ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในภาคธุรกิจ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า หลังจากที่ NIA เดินหน้าโครงการ Startup Thailand League ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้แผนการส่งเสริมสตาร์ทอัพของประเทศ ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน

ในการสร้างระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่จะจุดประกายและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ รวมทั้งก่อให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จะส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจจากความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ พร้อมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

โดยปีนี้มีนิสิตนักศึกษาทั้งหมด 260 ทีม จากมหาวิทยาลัยเครือข่าย 48 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน  และให้ความสนใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในเกือบทุกสาขาเทคโนโลยี แต่ความโดดเด่นของปีนี้คือการมุ่งสู่เทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศด้านเกษตรอย่างมากเพราะตอบโจทย์ด้านความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร

NIA ประกาศผล “สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก 2023”

และสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่เกือบหนึ่งในสามของประเทศ ซึ่งประเทศไทยของเราเป็นประเทศแห่งเกษตรกรรม อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายเร่งผลักดันและขับเคลื่อนการสร้างสตาร์ทอัพเกษตรใหม่ๆ นับเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้น้องๆ ได้เติบโตต่อไป ผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศที่จะทำให้เกิดการขยายการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดบนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

จากการเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ทั้ง 4 ภูมิภาค มีเพียง 14 ทีม ที่ผ่านเข้าถึงการแข่งขันรอบสุดท้ายของ Startup Thailand League 2023 ระดับประเทศ โดยทั้ง 14 ทีมนี้จะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเองต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ

NIA ประกาศผล “สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก 2023”

โดยทีมผู้ชนะเลิศ Startup Thailand League 2023 ระดับประเทศ  อันดับ 1-3 จะได้รับโล่รางวัล จาก NIA และเงินรางวัล มูลค่า 50,000 บาท, 30,000 บาท และ 20,000 บาท

• ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม SparkEnergy  จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

GreenSupercap ถ่านคาร์บอนจากเศษเหลือขี้เลื่อยไม้ยางพารา ผ่านกระบวนการปรับปรุงพื้นผิวที่คิดค้นขึ้น ให้มีพื้นที่ผิวและความเป็นรูพรุนในการกักเก็บประจุไฟฟ้าที่สูง สำหรับอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน

• รองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม K-DLE  จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

บรรจุภัณฑ์กันกระแทกสำหรับผลิตผลสดทางเลือกใหม่จากยางธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถปกป้องผลิตผลสดในระหว่างการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Mission to Mars จากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล

Virniture คือการรวมกันระหว่างการออกแบบห้องแบบ virtual และการซื้อเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์  

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลเพิ่มเติมจากผู้สนับสนุน ประกอบด้วย

1.รางวัล Huawei Cloud Accelerator Intensive Program จากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ทีม Confusion Matrix มหาวิทยาลัยพะเยา, ทีม Overlap มหาวิทยาลัยนเรศวร, ทีม FXAM สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยทั้ง 3 ทีมจะได้เข้าร่วมอบรมพื้นฐานการใช้งาน Huawei Cloud รวมถึงการพัฒนาโซลูชันบนคลาวด์ร่วมกับเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AI, Big Data ซึ่งเป็นการเสริมความพร้อมให้น้อง ๆ ก่อนการแข่งขันในเวทีนักศึกษาระดับโลก Huawei ICT Competition โดยจะมี 1 ทีมเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันนี้ที่ประเทศจี

2. รางวัลเกียรติบัตร “Best Performance 2023” สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีพัฒนาการ สามารถนำทีมนักศึกษาเข้าสู่่ Demo Day ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

3. รางวัล University of the year สำหรับมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมผลักดันทีมนักศึกษาสู่ชัยชนะ ได้แก่ -

NIA ประกาศผล “สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก 2023”

ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า ขอแสดงความยินดีแก่ทีมน้องๆ นักศึกษาที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ซึ่งเวที Startup Thailand League 2023 ทำให้เห็นว่านี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการปลูกฝังให้มหาวิทยาลัยและนักศึกษาไทยมี Entrepreneurial Mindset หรือ Mindset แห่งการเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการฝึกฝนให้นักศึกษาได้สัมผัสโลกการทำงานก่อนที่จะจบออกจากรั้วมหาวิทยาลัย

โครงการ Startup Thailand League ได้ส่งเสริมให้ตั้งคำถามที่ถูกต้อง วิเคราะห์ปัญหาและสร้างโซลูชันในการแก้ไข บ่มเพาะแนวคิดในการทำงานเป็นทีม ให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์เสมือนการทำงานจริง ซึ่งได้เห็นผลประจักษ์แล้วว่าตลอด 7 ปีของการดำเนินกิจกรรมมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 70,000 คน จาก 48 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน

โดยสามารถต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทและปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่มากกว่า 50 บริษัท ก่อให้เกิดรายได้รวมต่อปีมากกว่า 500 ล้านบาท (เฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อปีต่อบริษัท) เกิดการกระจายตัวของสตาร์ทอัพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงเกิดการจ้างงานและสร้างความมั่นคงให้ชุมชน และเกิดการกระจายรายได้ออกสู่ภูมิภาค