Google ประกาศยกระดับนโยบายสำหรับการคัดกรองแอปบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลที่ดำเนินการในไทย โดยระบุว่านักพัฒนาแอปบริการสินเชื่อส่วนบุคคลจะต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบที่แสดงถึงความสามารถของแอปในการเสนอหรือช่วยเหลือเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศ ซึ่งการเพิ่มข้อกำหนดใหม่ในครั้งนี้เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของ Google เพื่อดูแล Google Play ให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้
การปรับปรุงนโยบายบริการทางการเงินของ Google ในครั้งนี้ กำหนดให้แอปที่มีฟีเจอร์ทางการเงินต้องส่งแบบฟอร์มการประกาศฟีเจอร์ทางการเงิน (พร้อมใช้งานปลายเดือนกรกฎาคม) พร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม โดยนโยบายนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
นักพัฒนาแอปบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในไทยจะต้องกรอกแบบฟอร์มการประกาศแอปบริการสินเชื่อส่วนบุคคล และส่งเอกสารที่จำเป็นก่อนที่จะเผยแพร่แอป จากนั้นต้องส่งหลักฐานการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้บริการหรือช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในไทย
นอกจากนี้ยังต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎข้อบังคับและการอนุญาตให้ใช้สิทธิที่เกี่ยวข้อง ตามคำขอของ Google Play
แอปบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการในไทยจะถูกนำออกจาก Google Play Store ทันที หากใบอนุญาต การจดทะเบียน หรือการประกาศไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นักพัฒนาแอปก็จะต้องนำแอปออกจาก Google Play Store ทันทีเช่นกัน
นางสาวแจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “นโยบายใหม่นี้จะช่วยปกป้องผู้ใช้ในไทยจากการละเมิดที่อาจเกิดขึ้นจากแอปบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ฉ้อฉล เป้าหมายของเราคือการกำจัดแอปที่ไม่ดีออกจาก Play Store ดังนั้นเราจึงใช้มาตรการเชิงรุกโดยกำหนดเกณฑ์ที่เข้มงวดสำหรับแอปบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินและปกป้องผู้บริโภค”
ภายใต้ข้อบังคับใหม่นี้ แอปบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อน รวมถึงที่จัดเก็บข้อมูลภายนอก ภาพสื่อ รายชื่อติดต่อ และข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่แน่นอน นอกจากนี้ แอปบริการสินเชื่อส่วนบุคคลระยะสั้นที่กำหนดให้ชำระเงินคืนเต็มจำนวนเมื่อครบ 60 วันก็จะไม่ได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน
ไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ Google ได้บังคับใช้ข้อกำหนดเบื้องต้นเพิ่มเติมสำหรับแอปบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล