เมื่อ AI บุกวงการศิลปะ ท้าทายอนาคตของ “ศิลปิน”

28 มิ.ย. 2566 | 11:51 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2566 | 16:10 น.

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) อาจมีศักยภาพที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกของศิลปะและความบันเทิง ตั้งแต่ด้านเสียงเพลงไปจนถึงภาพยนตร์ คำถามที่สำคัญ คือ AI จะเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ หรือเป็นภัยคุกคาม ต่อเหล่าผู้สร้างและศิลปินกันแน่

 

เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่สร้างคำถามในขณะเดียวกัน เกี่ยวกับบทบาทของ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในโลกแห่ง ศิลปะ โดยนายบอริส เอลดักเซน ศิลปินชาวเยอรมัน ได้รับรางวัลด้านภาพถ่ายอันทรงเกียรติ Sony World Photography Award แต่เอลดักเซนปฏิเสธที่จะรับรางวัลดังกล่าว โดยเขายอมรับเองว่า ผลงานที่ส่งเข้าประกวดไม่ใช่ภาพถ่าย แต่เป็นภาพที่ถูก “รังสรรค์ผ่านปัญญาประดิษฐ์” โดยเขาหวังว่า การออกมายอมรับของเขาจะช่วยกระตุ้นการพูดคุยกันในประเด็นนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ความสามารถอย่างเดียวของ AI

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ เผยแพร่รายงานชุด Tool or Threat? AI in Arts and Entertainment เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์อย่าง ChatGPT สามารถสร้างสรรค์และเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วย

โจนาธาน เมย์ นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ จากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ระบบ AI ผลิตออกมานั้นเป็นเรื่องราวที่มีความเชื่อมโยงกัน แต่ไม่ใช่เรื่องที่มีความน่าสนใจมากนัก และแม้ตัวเขาเองจะไม่ใช่บรรณาธิการงานเขียนกลุ่มนิยาย แต่จากที่สังเกตได้ก็คือ นิยายที่ถูกสร้างจากเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเขาจะยอมจ่ายเงินเพื่อนำไปตีพิมพ์แน่ๆ

บอริส เอลดักเซน กับผลงานภาพถ่ายของเขาที่ได้รับรางวัล Sony World Photography Award เขาปฏิเสธรับรางวัล พร้อมเฉลยว่านี่คือภาพถ่ายที่สร้างสรรค์โดย AI

ปิโอเทรอ มิโอว์สกี นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่มีงานอดิเรกเป็นการแสดงตลกอิงวิทยาศาสตร์ ลองนำหุ่นยนต์ AI มาร่วมแสดงแบบด้นสด ไม่มีสคริปต์ กันที่กรุงลอนดอน โดยใช้ชื่อการแสดงว่า “Improbotics”

มิโอว์สกี ให้ความเห็นว่า ทักษะของ AI มีความน่าประทับใจ แต่มันก็ไม่เข้าใจบริบทที่อยู่รอบข้างอย่างที่มนุษย์ซึ่งเป็นนักแสดงสามารถทำได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ปัญญาประดิษฐ์ไม่รู้ว่า มีคนกี่คนอยู่ในห้อง หรือมีคนร้องไห้อยู่หรือไม่ เป็นต้น

นักวิจัยท่านนี้มองว่า เมื่อนำ AI มาใช้งานในฐานะนักแสดงหรือนักเขียน งานที่ถูกสร้างสรรค์ออกมามักจะมีเนื้อหาที่มีคุณภาพกลาง ๆ ก่อนจะตั้งคำถามที่สำคัญว่า "ทำไมคุณถึงต้องการนักเขียน AI มาทำงานแทน ทำไมไม่เขียนออกมาด้วยตัวของคุณเอง"

แต่ถึงอย่างนั้น ผู้คนยังต้องการค้นหาเส้นแบ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น ที่มหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน (University of Southampton)  ในประเทศอังกฤษ นักดนตรีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ลองผสานการประพันธ์เพลงโดยให้ AI สร้างเพลงธีม และบรรเลงดนตรีแจ๊สแบบด้นสดประสานเข้าไป

มาร์ค วอเตอร์ส นักประพันธ์เพลงจากภาควิชาดนตรี Eastman School of Music แห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester) ที่เคยได้รับรางวัลเอ็มมีมาแล้ว และเคยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเพลง สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถึงสองครั้ง ให้ความเห็นว่า หนึ่งในตัวอย่างงานที่ AI สามารถทำได้ คือ การผลิตเพลงประกอบสำหรับรายการเกมโชว์

เขามองว่า เกณฑ์วัดนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า ผลงานต้องมีเอกลักษณ์ยอดเยี่ยมไม่เหมือนใคร แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือ การที่ AI สามารถผลิตชิ้นงานที่มีพลัง มีอารมณ์ขัน หรือสื่ออารมณ์ที่ถูกต้องออกมาเท่านั้น “ปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ได้ก็จริง (เช่น เพลง หรือบทละคร) แต่ก็ยัง ขาดอารมณ์ อย่างที่ศิลปินนั้นมี

โจนาธาน เมย์ จาก ม.เซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย มีความเห็นสอดคล้องกับวอเตอร์ส เขาเสริมว่า  “เหล่าปัญญาประดิษฐ์ไม่มีประสบการณ์ชีวิต ไม่เคยเผชิญความบอบช้ำทางจิตใจ หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน พวกมันจึงขาดการมองโลกแบบเติบโต ชนิดที่เราซึ่งเป็นมนุษย์สามารถเชื่อมโยงได้”

จากความเห็นเหล่านี้ เราอาจกล่าวได้ว่า “แรงบันดาลใจ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” คือ สิ่งที่ขาดหายไปจากปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณที่ยังรอให้ถูกติดตั้งลงใน AI เหล่านี้

ข้อมูลอ้างอิง