นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดประเมินผล สร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยกับ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ที่มีการออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผล กลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าผสานกำลังส่งมอบดัชนีปยังเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันนำองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มต่อไป
“ปัญหาภัยไซเบอร์กลายเป็นวาระที่ทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญเพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสารสนเทศ ที่ต้องมีการรับมืออย่างจริงจัง
ดังนั้น AIS ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัล เราเข้าใจดีว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อสังคมดิจิทัลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่ผ่านมากว่า 4 ปี AIS จึงอาสาจุดประกายสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตั้งแต่วันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล”
นายสมชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า “จากการทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทำให้เราเห็นแนวทางแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาดัชนีชี้วัดที่จะบ่งบอกถึงระดับความรู้และทักษะดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม อันจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเครื่องมือ และองค์ความรู้ส่งมอบให้กับคนไทยได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหาเกิดขึ้น ในชื่อของ “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)” ที่ถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีพันธมิตรรายสำคัญอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมนักวิชาการหลากหลายแขนง มาร่วมกันทำงานเพื่อยกระดับเรื่องดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อไป”
ทั้งนี้จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เราเห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น โดย AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ดัชนีฉบับนี้เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้พวกเรามองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ทางด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. กล่าวว่า “เราทำงานร่วมกับ AIS มาอย่างต่อเนื่องในการสร้างองค์ความรู้จัดทำหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ เพื่อสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่คนไทย จนมาวันนี้ เรามีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดผลถึงการใช้งานกับ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index และเพื่อให้การศึกษาครั้งนี้เป็นไปตามหลักมาตรฐานของการวิจัย มีความถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และการวัดประเมินผล ในการออกแบบระเบียบวิธีวิจัย กรอบแนวคิด จนสามารถพัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยออกมาได้ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับ Advanced ระดับ Basic และระดับ Improvement ที่จะบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของประชาชนไทยแต่ละกลุ่ม ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ”
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะ ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration), ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) ที่มีขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน ซึ่งวันนี้จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น”