สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ร่วมหารือกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี และ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ถึงความคืบหน้าโครงการ “ไซเบอร์วัคซีน” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะมีการร่วมผลิตและเผยแพร่ข้อมูลความรู้กลโกงในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารของเครือซีพีซึ่งมีธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อเตือนภัยทุจริตทางการเงินบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นวัคซีนที่ใช้เป็นภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและรับมือมิจฉาชีพได้โดยไม่ตกเป็นเหยื่อแล้วนั้น
ล่าสุด บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ประกาศพร้อมให้การสนับสนุนด้านระบบและเทคโนโลยี เพื่อช่วยป้องกันประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อถูกทุจริตทางการเงินโดยมิจฉาชีพ
โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 20 พ.ค. 2566) สถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3. คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4. คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ 5. คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
ด้านนายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด เปิดเผยว่า ทรูมันนี่ ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความตระหนักถึงภัยออนไลน์ที่ถือว่าสร้างความกังวลและความกลัวให้กับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทรูมันนี่ได้นำเสนอแนวทางเพื่อช่วยเหลือในการติดตามผู้กระทำความผิด หรือกลุ่มของมิจฉาชีพกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ ทรูมันนี่ เตรียมสนับสนุนเทคโนโลยีในการทำระบบฐานข้อมูลกลาง (Pool Database) เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่กระทำความผิดด้านการเงิน ที่สามารถใช้ตรวจสอบและวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากระบบดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็จะช่วยมอบการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมในรูปแบบใหม่แก่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงองค์กรอื่นๆ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ทรูมันนี่ยังมีแผนจัดสัมมนาโดยได้ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ให้กับประชาชนอีกด้วย