ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการดำเนินการจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) จะแล้วเสร็จประมาณกันยายน 2566 นี้ ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า สขญ. และชื่อภาษาอังกฤษว่า Big Data Institute (Public Organization) หรือ BDI
โดยขณะนี้คณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด ชั่วคราว ที่ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ มี รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ทำหน้าที่รักษาการ ผู้อำนวยการ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)
หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการสรรหาบอร์ด และผู้อำนวยการต่อไป เพื่อดำเนินการจัดทำโครงสร้างองค์กร ให้เป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 กำหนดจำนวนบุคลากรไว้ 113 คน สามารถเพิ่มได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
และส่งเสริม ประสาน และให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ในการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการให้บริการ หรือการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงส่งเสริมหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพการบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ
นอกจากยังนี้ต้อง ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจด้านการวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศและส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรของประเทศด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมทั้งให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาหรือเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน
รวมไปถึงการดำเนินการอื่นเพื่อพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศตามที่กฎหมายกำหนด หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย เพื่อบูรณาการการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ สถาบันอาจเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันหรือร่วมดำเนินการกับสถาบัน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ระบบรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชน (Youth Link) และระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (CO-Link)
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อไปอีกว่าการจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) นั้นต้องการเกิดการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เกิดการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดในการจัดตั้งสถาบันดังกล่าวนั้น ผู้อำนวยการ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) จะเป็นผู้กำหนด และเสนอต่อบอร์ด และคณะรัฐมนตรีต่อไป
ด้านนายณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบลนเดต้า จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Big Data กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ขึ้นมาจะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลของภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีหน่วยงานที่มีความรู้ความเข้าใจ ทำให้การประสานงานภาครัฐเอกชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วขึ้น