บริการเดลิเวอรี่ เริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายในไทยช่วงโควิดที่ผ่านมา หลังจากเข้ามาตลาดไทยเกือบ 10 ปี อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ ประสบปัญหาขาดทุนทุกรายรวมกันนับหมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการทุ่มเม็ดเงินการตลาดเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาสู่แพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม แกร็บเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ออกมาประกาศทำกำไรภายในปีนี้
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแกร็บ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”และสื่อเครือเนชั่น ว่า ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ผลประกอบการของแกร็บ ประเทศไทย ต้องเป็นบวก โดยจะเป็นปีแรกที่บริษัททำกำไรจากการทำธุรกิจ ก่อนนำไปรวมกับประเทศอื่นๆ 8 ประเทศในภูมิภาค เพื่อผลักดันยอดผลประกอบการของบริษัทแม่แกร็บ โฮลดิ้ง ให้มีผลกำไร ตามที่ประกาศไว้ภายหลังเข้าจดทะเบียนในแนสแดก
“ปีที่ผ่านมาบริษัทแม่แกร็บ โฮลดิ้ง ขาดทุน 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.9 พันล้านบาท สำหรับในประเทศไทยนั้น แกร็บประเทศไทย ตัวเลขขาดทุนของแกร็บ ประเทศไทย ปี 64 อยู่ที่ 200 ล้านบาท ส่วนปี 65 กำลังประกาศเร็วๆ นี้ก่อนสิ้นปีนี้ตัวเลขผลประกอบการต้องเป็นบวก ก่อนนำไปรวมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค”
โดย 2 ธุรกิจหลัก คือ บริการเรียกรถ กับสั่งอาหาร สร้างรายได้มากสุด และ ช่วยผลักดันให้แกร็บมีผลกำไร ทั้งนี้บริการเรียกรถ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามา โดยบริษัทต้องพยายามเพิ่มจำนวนรถมารองรับความต้องการใช้บริการมากขึ้น ส่วนบริการสั่งอาหาร หลังโควิดคนยังสั่งอาหารผ่านแอปอยู่ เพราะคนไม่ได้กลับมาทำงานออฟฟิศ 100% โดยยังมีคนทำงานที่บ้าน ยอดสั่งซื้ออาหารผ่านแอปไม่ได้ลดลง สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ คือ ทำอย่างไรให้การใช้จ่ายยอดต่อการสั่งออเดอร์แต่ละครั้งสูงขึ้น (Average Order Value) ซึ่งแกร็บต้องพยายามหาร้านอาหารอร่อยๆ เข้ามามากขึ้น และผลักดันโปรโมชันให้กับลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายมากขึ้น
“18 เดือนที่ผ่านมา แกร็บ ได้รวมร้านอร่อยยกนิ้ว #GrabThumbsUp เป็นเหมือนแบรนด์ที่เราสร้างขึ้นมาว่าเป็นร้านดังร้านอร่อยร้านคนนิยมร้านที่มีคนติดตามบนโซเชียลแล้วร้านพวกนี้ราคามันจะสูงนิดนึง ตอนนี้สิ่งที่ทำเริ่มออกดอกออกผล ทำให้ยอดสั่งต่อออเดอร์สูงขึ้น นอกจากนี้แกร็บ ยังมีแพ็กเกจสมาชิก GrabUnlimited มอบส่วนลดต่างๆมอบให้กับสมาชิก ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากโดยเห็นได้จากจำนวนสมาชิก GrabUnlimited ที่เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่าและมีอัตราการต่ออายุสมาชิกสูงถึง 90%”
นายวรฉัตร กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันมี แกร็บมีค่าเฉลี่ยในการสั่งออเดอร์แต่ละครั้ง ในกรุงเทพ 200 กว่าบาท และ ต่างจังหวัด 100 กว่าบาท โดยมาถึงจุดที่ทำให้เราไปได้ และเชื่อว่าด้วยโมเดลดังกล่าวทำให้แกร็บมีการเติบโตแบบยั่งยืน ไม่ใช่โมเดลของการเผาเงินอีกต่อไป
“ธุรกิจสั่งอาหารสมมุติว่าเราเก็บคอมมิชชั่นร้านอาหาร 20% เราจ่ายคนขับ 30-40 บาท ถ้าลูกค้าสั่งออเดอร์ 100 บาท เราได้ค่าคอมมิชชั่นจากร้านอาหาร 20 บาท แต่เราจ่ายคนขับ 40 บาท แปลว่า 1 ออเดอร์ เราขาดทุนทันที 20 บาท โดยไม่รวมอะไรค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าพัฒนา App ค่าคน และทุกรายการมีโปรโมชัน แปลว่าเราอาจ 30-40 บาท ต่อหนึ่งออเดอร์ แต่ถ้าลูกค้าส่งออเดอร์ 200 บาท เราได้คอมมิชชันจากร้านอาหาร 40 บาท เราจ่ายให้คนขับ 40 บาท อันนี้เริ่มเสมอตัว ซึ่งเราพยายามปรับโปรโมชันให้ตรงกับความต้องการลุกค้าที่ใช้จ่ายมากกว่า 200 บาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
ส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นๆ นั้นแกร็บมีบริการสินเชื่อสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ธุรกิจดังกล่าวนั้นมีต้นทุนต่ำ ใช้คนน้อย ขณะที่ธุรกิจที่ต้องการมุ่งเน้นเพิ่มเติม คือ B2B ภายใต้บริการ Grab for Business แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบครบวงจรที่ช่วยจัดการความต้องการทางธุรกิจในแต่ละวันของบริษัท ตั้งแต่การเดินทางเพื่อธุรกิจ การสั่งอาหาร การจัดส่งพัสดุ ไปจนถึงบัตรของขวัญสำหรับการมอบบัตรของขวัญทั้งในองค์กรหรือใช้ในการส่งเสริมการขาย นอกจากนี้ยังมีบริการ Grab ads ที่เปิดให้แบรนด์โฆษณาผ่าน Grab โดยบริการเหล่านี้สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ