ถึงเวลาดิจิทัลแพลตฟอร์มสร้างรายได้โกยกำไร

31 พ.ค. 2566 | 17:53 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 18:33 น.

สัญญาณการทำกำไรของธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มในไทยเริ่มต้นจากปีที่แล้ว ภายหลังจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง “ลาซาด้า” เริ่มทำกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีรายได้รวม 14,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% กำไรสุทธิ 226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105%

อย่างไรก็ตามการปิดตัวของการปิดตัวของธนาคารในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ Silicon Valley Bank Signature Bank และ Silvergate Bank ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน Venture Capital กลุ่มธุรกิจ ฟินเทค และ สตาร์ทอัพ เป็นตัวเร่งให้เทคสตาร์ทอัพทุกราย ที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุน จำเป็นต้องดิ้นรน ปรับธุรกิจ ลดคน ขึ้นค่าบริการ เพื่อเร่งสร้างกำไร เพราะการระดมทุนจากนักลงทุนมีความยากลำบากมากขึ้น

ล่าสุดช้อปปี้ ดิจิทัลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอีกรายหนึ่ง ที่ดำเนินธุรกิจในไทยมา 8 ปี กำลังพลิกธุรกิจที่ขาดทุนสะสมมานับหมื่นล้านบาท เข้าสู่การทำกำไรเป็นปีแรกในปี 2565 ที่ผ่านมา ภายหลังปรับโครงสร้าง ทางธุรกิจ มีการลดคน และปรับแนวทางธุรกิจ โดยปี 2565 ช้อปปี้มีรายได้ 21,709 ล้านบาท เติบโต 62.96% เมื่อเทียบกับปีก่อน และสามารถพลิกจากการขาดทุนในปี 2564 ราว 4,972 ล้านบาท มาเป็นกำไร 2,380 ล้านบาท

ขณะที่คู่แข่งอย่างลาซาด้า ยังคงโกยกำไรต่อเนื่อง โดยมีรายได้ปีประมาณ 20,675 ล้านบาท เติบโตขึ้น 40.89 % มีกำไรราว 413 ล้านบาท

ถึงเวลาดิจิทัลแพลตฟอร์มสร้างรายได้โกยกำไร

แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีความเคลื่อน ไหวเพื่อสร้างผลกำไรอย่างหนัก ช่วงนี้เห็นจะเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอ สตรีมมิ่ง นำโดย เน็ตฟลิกซ์ Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิงความบันเทิงทางออนไลน์ ประกาศว่าจะเริ่มส่งอีเมลไปยังสมาชิกในประเทศไทยที่แชร์ บัญชี Netflix กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ทั้งนี้หากต้องการแชร์ Netflix กับบุคคลที่อยู่นอกครัวเรือน สามารถใช้ฟีเจอร์ต่อไปนี้ได้ ฟีเจอร์ย้ายโปรไฟล์ สมาชิกทุกคนที่มีโปรไฟล์อยู่ในบัญชีสามารถย้ายโปรไฟล์ไปไว้ในบัญชีใหม่ที่ตนชำระค่าบริการได้ และซื้อบริการสมาชิกเสริม สามารถแชร์ Netflix กับบุคคลที่ไม่ได้อยู่อาศัยอยู่ด้วยกันได้ โดย จ่ายเพิ่มอีก 99 บาทต่อเดือน

โดยการบังคับให้ผู้ใช้จ่ายเงินซื้อบัญชีรองเพิ่มนี้ เป็นหนึ่งในความพยายามของ Netflix ที่จะเรียกรายได้เพิ่ม ชดเชยกับยอดที่เสียไปจากการที่ผู้ใช้บางส่วนแชร์รหัสกัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าสมาชิก

ขณะที่ Disney+Hotstar แพลตฟอร์มวิดีโอ สตรีมมิ่ง ได้ ประกาศราคาแพ็กเกจใหม่สำหรับสมาชิกปัจจุบันและสมาชิกใหม่ โดยตั้งแต่ วันที่ 29 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป Disney+Hotstar จะมีแพ็กเกจหลัก 2 รายการ ได้แก่ แพ็กเกจ Disney+Hotstar มือถือ ค่าบริการ รายเดือน 99 บาท/เดือน | รายปี 799 บาท/ปี สามารถดูได้ 1 หน้าจอ ความคมชัดสูงสุด 720p ไม่รองรับ AirPlay ระบบเสียง Stereo และดูได้บนมือถือ, แท็ปเลต

และแพ็กเกจ Disney+Hotstar พรีเมียม ค่าบริการรายเดือน 289 บาท/เดือน (รายปี 2,290 บาท/ปี) ดูได้ 4 หน้าจอ ความคมชัดสูงสุด 4K 2160p, รองรับ AirPlay, ระบบเสียง Dolby 5.1, Dolby Atmos, Dolby Vision และสามารถ ดูได้บนมือถือ, แท็บเล็ต, แล็ปท็อป, ทีวี

ส่วนอีกดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ส่งสัญญาณ การทำกำไรปีนี้ปีแรก คือ เดลิเวอรี่ นำโดย แกร็บ ที่แกร็บ ประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนภายใต้บริษัท บริษัท แกร็บแท็กซี่ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศภายในสิ้นปี 2566 จะสร้างกำไรเป็นปีแรก ภายหลังจากปี 2564 ขาดทุนราว 200 ล้านบาท ส่วนตัวเลขขาดทุนปี 2565 ยังไม่ได้มีการประกาศ โดยกลยุทธ์หลักที่ช่วยให้แกร็บ สร้างผลกำไรคือ การเพิ่มยอดค่าใช้จ่ายต่อการสั่งออเดอร์แต่ละครั้งสูงขึ้น (Average Order Value) และการ สร้างรายได้จากบริการแกร็บคาร์ภายหลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา