นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจมองว่า AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายส่วน โดยเฉพาะ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่มาแรงอยู่ขณะนี้ จนเกิดเป็นกระแสว่าในอนาคตอันใกล้ AI อาจจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ทุกอย่าง
แท้ที่จริงแล้วการที่จะใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุดคือการที่ “มนุษย์” กับ “AI” ทำงานร่วมกัน กลายมาเป็นแนวคิด Augmented Intelligence หรือการใช้ AI ยกระดับการทำงานและความสามารถของมนุษย์ ที่ไม่ได้หมายความว่าทดแทน ผ่านการสร้างโมเดล Machine Learning ที่วางคนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centric) โดย AI สามารถรับฟีดแบ็คและประสบการณ์ต่างๆ จากมนุษย์ พัฒนาข้อมูลออกมาเป็นแนวทางที่กลับมาช่วยให้มนุษย์สามารถทำการตัดสินใจและกระทำการบางอย่างได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
และจากแนวคิด Augmented Intelligence นี้ ทาง KBTG ได้นำมาพัฒนาต่อยอดสู่การวิจัยด้าน AI และพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการให้กับธนาคารกสิกรไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) ที่เป็นกลไกเบื้องหลัง Chatbot ช่วยแนะนำการตอบปัญหาลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ จนปัจจุบันช่วยประหยัดเวลาของลูกค้าในการใช้งานจริงไปกว่า 300,000 ชั่วโมง หรือ Wealth PLUS ฟีเจอร์แนะนำการลงทุนบนแอป K PLUS เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับการวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานด้าน AI ที่ KBTG ทำร่วมกับ MIT Media Lab ก่อนหน้านี้เคยได้มีการเปิดตัวผลงาน “Future You” แพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสนทนากับ Digital Twin ของตัวเองในอนาคตผ่านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (GPT) ที่ปรับให้เหมาะสมตามข้อมูลเป้าหมายในอนาคตและนิสัยส่วนบุคคลของผู้ใช้ เพื่อให้การสนทนารู้สึกเหมือนจริงและเพิ่มความน่าเชื่อถือ ระบบจะสร้างความทรงจำสังเคราะห์เฉพาะบุคคลของผู้ใช้งานในอนาคตในวัย 60 ปี พร้อมปรับให้ภาพเหมือนของผู้ใช้เปลี่ยนไปตามอายุ
สำหรับสองงานวิจัยนี้ KBTG ต้องการที่จะทดลองและสาธิตเห็นว่า AI สามารถให้ข้อมูลที่ช่วยให้การตัดสินใจของมนุษย์ดีขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนปัจจัยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ ภาษา ความลึกของความรู้ และอารมณ์
โดยล่าสุด KBTG ได้ร่วมมือกับ NECTEC และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาหารือความเป็นไปได้ในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำ AI ไปใช้งาน หรือ AI Literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างของประเทศ โดยทั้งสามสถาบันกำลังร่วมกันเขียน Whitepaper เพื่อเป็นไกด์ไลน์เผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีทักษะในการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการสร้างผลงานวิจัยและการพัฒนาในภาคธุรกิจแล้ว การพัฒนาคนด้าน AI ของประเทศไทยในมุมของภาครัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป ในการที่จะสร้างความตระหนักด้าน AI (AI Awareness) รวมถึงแนวทางให้กับคนไทย เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับ AI และใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ