ดัน“OpenThaiGPT”AI Chatbot พันธุ์ไทย ลดพึ่งพาเทคโนฯโลก

14 เม.ย. 2566 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2566 | 14:43 น.

โชว์โรดแมปพัฒนา “OpenThaiGPT” AI Chatbot สายพันธุ์ไทย ชูความสามารถภาษาไทย พร้อมเปิดใช้งานฟรี หนุนธุรกิจ สตาร์ทอัพต่อยอดผลิตภัณฑ์-บริการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยี AI ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ หวังดัน GDP ประเทศขึ้น 1%

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ทีมงาน OpenThaiGPT ที่เกิดจากการรวมตัวของอาสาสมัครกว่า 100 คน กำลังพัฒนาระบบ AI Chatbot ของคนไทย“OpenThaiGPT” ภาษาไทย ให้มีความสามารถเทียบเท่า ChatGPT และเปิดให้ทุกคนใช้ได้โดยเสรี ฟรี ไม่มีข้อผูกมัด และเปิดให้องค์กร สตาร์ทอัพ บุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถนำไปใช้ นำไปปรับปรุงต่อ (Finetuning) เพื่อสร้างการใช้งาน หรือ บริการใหม่ๆจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์

ดัน“OpenThaiGPT”AI Chatbot พันธุ์ไทย ลดพึ่งพาเทคโนฯโลก

โดย OpenThaiGPT จะเป็น AI Chatbot ภาษาไทย ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี AI โดยช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้ไทยมีเอกราชทางด้านเทคโนโลยี AI ของตัวเอง ลดค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันหากองค์กรเข้าไปใช้ ChatGPT มีค่าใช้จ่าย 10 สตางค์ต่อครั้ง และลดเวลาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้กับองค์กร ทั้งบริการคอลเซ็นเตอร์ ใส่ในหุ่นยนต์บริการ หรือ ต่อยอดแอปพลิเคชัน สร้างให้เกิดผู้ประกอบการ หรือ สตาร์ทอัพ รายใหม่ๆ และบริการดิจิทัลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปัจจุบันมีบริษัทพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศประมาณ 120 บริษัท 

ทั้งยังช่วยผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค โดยในอนาคต หากมีการใช้งาน OpenThaiGPT แพร่หลายคาดว่าจะมีผลกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ GDP ได้ราว 1 %

ดัน“OpenThaiGPT”AI Chatbot พันธุ์ไทย ลดพึ่งพาเทคโนฯโลก

การพัฒนา OpenThaiGPT เบื้องต้นจะประกอบด้วย 3 โมเดลหลัก โมเดลแรก เวอร์ชัน 0.0.1-0.0.4 เป็นรุ่นเล็ก มีจำนวนของพารามิเตอร์การฝึกอบรมที่ใช้ในการพัฒนาโมเดลภาษาแบบย้อนกลับอัตโนมัติ 120 ล้านพารามิเตอร์ หรือ 120 ล้านเซลล์สมอง ซึ่งเป็น AI แรกเกิด ต้องป้อนข้อมูลเข้าไปให้เกิดการเรียนรู้ โดยได้เปิดให้มีการใช้งานแล้ว

ส่วนโมเดลที่ 2 ซึ่งเป็นรุ่นกลาง มีจำนวนของพารามิเตอร์การฝึกอบรมที่ใช้ในการพัฒนาโมเดลภาษาแบบย้อนกลับอัตโนมัติ 1.2 พันล้านพารามิเตอร์ สามารถเรียนรู้ได้ตนเอง ทำข้อสอบ โอเน็ตได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งเวอร์ชัน 1.0 จะเปิดให้ใช้บริการได้ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้

และโมเดลที่ 3 รุ่นใหญ่ จำนวนของพารามิเตอร์การฝึกอบรมที่ใช้ในการพัฒนาโมเดลภาษาแบบย้อนกลับอัตโนมัติ 1 หมื่นล้านพารามิเตอร์ ที่มีความสามารถสอบผ่านโอเน็ตมีความสามารถแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ราวเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมกับการทดสอบแข่งขันกับ ChatGPT ในการทำข้อสอบโอเน็ตทั้งความเร็ว และความถูกต้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่า OpenThaiGPT มีความสามารถภาษาไทยเหนือกว่า ChatGPT

ดร.กอบกฤตย์ กล่าวต่อไปอีกว่า AI เป็นเมกะเทรนด์ของโลก การพัฒนา AI ของไทยกำลังมาในทิศทางที่ดี โดยมีแผน AI แห่งชาติ ซึ่งภายหลังจากมีแผนดังกล่าวทำให้อันดับความสามารถทางด้าน AI ของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 31 จากเดิมอยู่ที่ 60 กว่าอย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง เรื่อง ร่างกฎหมาย AI ACT ที่มีการจัดประเภทความเสี่ยง AI ซึ่ง AI ที่มีความเสี่ยงสูง จะต้องเข้าไปอยู่ใน SANDBOX หากหน่วยงานรัฐตรวจสอบแล้วปลอดภัย ถึงออกมาให้บริการได้ ขณะที่ต่างประเทศไม่มีกฎหมายมาควบคุม ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผล กระทบต่อการพัฒนา AI ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีความล่าช้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่แล้ว

การพัฒนา AI แบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรก คือ Artificial Narrow Intelligence (ANI) AI ที่มีความถนัดในศาสตร์แขนงใด แขนงหนึ่ง เท่านั้น ยุคที่ 2 Artificial General Intelligence (AGI) AI ที่มีความสามารถเรียนรู้ การใช้เหตุผล แก้ไขปัญหา สร้างกลยุทธ์และตัดสินใจได้ในสภาวะที่ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ โดยขณะนี้เราอยู่ช่วงยุคที่ 2 ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ChatGPT ที่มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ สามารถสอบแพทย์ กฎหมายผ่าน และ ยุคที่ 3 Artificial Super Intelligence (ASI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง มีความฉลาดเหนือมนุษย์