มากกว่า 1 ใน 2 ของผู้บริโภคดิจิทัลในเมืองในประเทศไทยใช้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์อยู่แล้ว และหมวดหมู่นี้คาดว่าจะ เติบโต 22% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 ผู้เล่นในระบบนิเวศการเดินทางจึงไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของการนำเสนอบริการดิจิทัลที่เปิดตลอดเวลา เรียบง่าย เป็นส่วนตัว และปลอดภัย
ในขณะเดียวกัน เทรนด์การค้นหาของ Google ยังบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมใกล้เคียงสามารถคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย เห็นได้จากคำค้นหาเกี่ยวกับ “ประกันการเดินทาง” และ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” ในประเทศไทย ซึ่งเติบโตขึ้นมากกว่า 900% และ 500% ตามลำดับ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านสุขภาพจึงต้องหาวิธีนำเสนอข้อเสนอที่เหมาะกับนักเดินทางที่ต้องการความคุ้มครองมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดและมาเยือนประเทศไทยเพื่อจุดประสงค์หลักในการรับการรักษาพยาบาล
นอกจากนี้ คำค้นหาเกี่ยวกับ "gastronomy tourism" ในประเทศไทย ยังเติบโตมากกว่า 110% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหารที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายหลักในการเดินทางเพื่อชิมและนำอาหารไทยต้นตำรับกลับบ้านไปทาน ได้ดีขึ้น
นางเอพริล ศรีวิกรม์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Google Cloud กล่าวว่า "เมื่อเราพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยว เรามักจะเน้นที่การสนับสนุนจากส่วนหลัก เช่น การบินและที่พัก เป็นต้น แต่การวิเคราะห์ของเราได้ขยายขอบเขตสู่การเน้นย้ำถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีผลต่อภาคส่วนอื่น ๆ ตั้งแต่บริการทางการเงิน การดูแลสุขภาพ ไปจนถึงการค้าปลีกและการขนส่ง เราจึงมุ่งมั่นที่จะเสริมศักยภาพให้กับองค์กรต่าง ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ผ่านความสามารถที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างชาญฉลาดเพื่อทำการตัดสินใจทางธุรกิจที่หลักแหลมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศแบบบูรณาการที่มอบประสบการณ์ผู้เยี่ยมชมระดับโลกอีกด้วย
ทั้งนี้ ความร่วมมือของเรากับ ทอท., SKY และ EVme จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยข้อเสนอแบบดิจิทัลที่ปรับให้เป็นส่วนตัวและขับเคลื่อนโดยข้อมูลบนคลาวด์แบบเปิดที่ยืดหยุ่นและปลอดภัย ซึ่งต่อยอดมาจากการทำงานร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ Central Retail เพื่อสนับสนุนธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและจัดเลี้ยง รวมถึงบริษัทเอกชนด้านการแพทย์ขนาดใหญ่ในท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต่อไป”
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การท่องเที่ยวจะยังคงเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ช่วยกระตุ้น GDP ที่สำคัญที่สุดของประเทศ และข้อมูลเชิงลึกจาก Google Cloud เหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ ททท. ในการส่งเสริมความยั่งยืน และการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบรวมถึงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทั่วทั้งอุตสาหกรรม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของการท่องเที่ยวไทย
ความต้องการเดินทางทางอากาศขาเข้าในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณการค้นหาของ Google ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกข้อจำกัดด้านโควิด-19 ทั้งหมด พบว่ามีความต้องการขาเข้าเพิ่มขึ้น 386% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการฟื้นตัวนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีความต้องการขาเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 161% เมื่อเทียบเป็นรายปีจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ความต้องการเดินทางทางอากาศขาออกจากประเทศไทยได้รับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ความต้องการเดินทางขาออกเพิ่มขึ้น 544% เมื่อเทียบเป็นรายปี การฟื้นตัวนี้ดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีความต้องการดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 187% เมื่อเทียบเป็นรายปีจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารขาเข้าและขาออกของท่าอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่) ทาง ทอท. และพันธมิตร SKY ผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีการบินชั้นนำ จึงได้ย้ายอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลของ ทอท. ไปยังโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิดที่ปรับขนาดได้และปลอดภัยของ Google Cloud
ด้วยเหตุนี้ ทอท. จึงเริ่มใช้ประโยชน์จากความสามารถในการปรับขนาดอัตโนมัติแบบไดนามิกของ Google Cloud ซึ่งช่วยให้ระบบไอทีที่สนับสนุน บริการการบินภาคพื้นดิน และแอปพลิเคชันมือถือ SAWASDEE by AOT ให้สามารถจัดการภาระงานปกติได้มากถึง 10 เท่า
จากการที่ SKY ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT ให้เป็น "Must Have Thailand Travel App" แบบ All-in-one ที่เป็นแอปพลิเคชันให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ทางบริษัทจึงใช้ Google Kubernetes Engine (GKE) เพื่อทำให้การปรับใช้และอัปเกรดแอปพลิเคชันเป็นไปเองอัตโนมัติ โดยไม่เข้าไปรบกวนการทำงาน และด้วย GKE ทีมเทคโนโลยีของ SKY ยังสามารถลดภาระงานไอทีแบ็กเอนด์ที่ต้องใช้เวลานานไปกับการกำหนดค่าด้วยตนเอง และช่วยเร่งให้การเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ หลายรายการที่ต้องทำเป็นประจำในแอปสามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการติดตามสัมภาระเพื่อความอุ่นใจของนักเดินทาง รายการตรวจสอบการเดินทางขาออกพร้อมแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับการเดินทางที่ปลอดภัยและไม่ยุ่งยาก อีคอมเมิร์ซปลอดภาษี โปรแกรมรอยัลตีของสนามบิน คำแนะนำการเดินทางที่คัดสรรมาแล้ว การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผู้ให้บริการสนามบินจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ท่ามกลางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในขณะนี้ เช่น ยกระดับประสบการณ์การใช้บริการให้กับผู้โดยสาร และลดปัญหาติดขัดล่าช้าภายในสนามบิน ระบบไอทีและแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินการต่าง ๆ ภายในสนามบิน จึงถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการให้บริการลูกค้าในทุกมิติ ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีการบินชั้นนำของประเทศไทย SKY มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับบริษัทที่มีแนวคิดเดียวกัน อย่าง Google Cloud เพื่อนำเสนอโซลูชันที่เชื่อถือได้มาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ด้านนายจิระพงษ์ เลาขจร ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด กล่าวว่า “แนวคิดของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการเดินทางที่ยั่งยืนมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง โดย EVme มีเป้าหมายในการสร้างประสบการณ์ 'การเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า' ให้กับคนไทยบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทันสมัยในราคาที่เหมาะสม เราเดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนฯต่ำ และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากระบบการเดินทางทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต่อชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศไทย สิ่งนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ชัดเจนของเราในการสร้างธุรกิจและเลือกดำเนินงานแพลตฟอร์มดิจิทัลของเราบนคลาวด์ข้อมูลแบบเปิดของ Google Cloud ซึ่งเป็นผู้นำด้านวิทยาการข้อมูล และ Google Cloud ยังเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์เพียงรายเดียวที่ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและบริการโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อีกด้วย”