ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบิน และอวกาศกองทัพอากาศ(ศวอ.ทอ.) ได้พัฒนาดาวเทียมสัญชาติไทย เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล ให้สามารถส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเข้าสู่วงโคจรได้จริง ในอีกประมาณ 2-3 ปี
ล่าสุด พล.อ.ท.ฐากูร นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ (ศวอ.ทอ.) ได้ส่งมอบดาวเทียม Thai Universe - 1 หรือ TU-1 เพื่อเข้าทดสอบศักยภาพ ที่ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT) โดยมีนายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA เป็นประธานในพิธีรับมอบ
น.อ.รณชิต วิจิตร ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ กล่าวว่า เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของดาวเทียมในสภาวะสุญญากาศ เพื่อยกระดับดาวเทียมของคนไทยดวงต่อไปในอนาคต จนถึงการส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเข้าสู่วงโคจรได้จริง
ขั้นตอนการทดสอบในเรื่องของระบบต่าง ๆ ของดาวเทียมต้องอาศัยความร่วมมือจาก GISTDA เพื่อให้การพัฒนาดาวเทียมดวงต่อ ๆ ไปมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น หากการทดสอบดาวเทียม TU-1 ผ่านไปได้ด้วยดี นั่นจะเป็นพื้นฐานของการสร้าง Flight Model ตามลำดับ โดยคาดว่าอีกประมาณ 2-3 ปี จะสามารถส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเข้าสู่วงโคจรได้
ทุกกระบวนการตั้งแต่การสร้างดาวเทียม TU-1 จะนำไปสู่การเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งหมด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เทคโนโลยีในกิจการด้านอวกาศ เกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมที่ทำขึ้นเองภายในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศได้ง่ายขึ้น
ด้านผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ และโฆษก GISTDA ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล กล่าวว่า ดาวเทียม TU-1 ถือเป็นดาวเทียมจากหน่วยงานภาครัฐดวงแรก ที่เข้าทดสอบที่ AIT โดยเป็นดาวเทียม CubeSat แบบ Engineering Model ประเภทสำรวจสภาพอวกาศที่มีน้ำหนักประมาณ 0.5 กิโลกรัม
กระบวนการทดสอบดาวเทียมดวงนี้จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ซึ่งจะเป็นการจำลองสภาวะแวดล้อมที่ดาวเทียมต้องเผชิญเมื่อถูกนำส่งขึ้นไปในอวกาศ คือ การทดสอบการสั่นสะเทือน หรือ Vibration testing และการทดสอบการทำงานของดาวเทียมในสภาวะร้อนและเย็น หรือ Thermal Cycling test สำหรับการทดสอบคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 ก่อนจะถูกนำไปใช้งานตามภารกิจของ ศวอ.ทอ. ต่อไป