นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรณีที่มีผู้เรียกร้องให้ กขค. เข้ามาติดตามควบคุมผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลส ภายหลังจากการประกาศยุติบริการแพลตฟอร์ม JD CENTRAL ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมองว่าการเหลือผู้เล่นเพียง 2 รายใหญ่นั้นจะมีผลต่อการมีอำนาจเหนือตลาดนั้น กขค. ยังไม่มองว่าการที่แพลตฟอร์ม JD CENTRAL ยุติการให้บริการลงไป เนื่องจากธุรกิจไปต่อไม่ไหว จนทำเหลือผู้เล่น 2 รายในตลาดอีคอมเมิร์ซ คือ ลาซาด้า และช้อปปี้
อย่างไรก็ตามมองว่ายังไม่เข้าข่ายอำนาจเหนือตลาด หรือ ผูกขาดตลาด เพราะขณะนี้ทั้งลาซาด้า และช้อปปี้ ยังมีการแข่งขันกันอยู่ แต่ กขค. จะมีการเฝ้าระวังพฤติกรรมของทั้ง 2 รายอย่างใกล้ชิด ว่ามีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบกับร้านค้า ผู้บริโภค หรือแบรนด์ที่นำสินค้ามาขายหรือไม่ ดูราคาเท่าเทียมกับตลาดหรือไม่ มีกลยุทธ์อะไร เป็นต้น
ส่วนกรณีปลายปีที่ผ่านมา ลาซาด้า ก็มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าเพิ่มขึ้น นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะรูปแบบธุรกิจของผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซคือการสร้างส่วนแบ่งตลาด และผู้ใช้ โดยหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาการขาดทุนมาตลอด เพิ่งมามีรายได้เติบโต หรือทำกำไรช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการเข้าสู่ภาวะทำกำไร ดังนั้นการปรับค่าธรรมเนียมไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผู้ให้บริการหลายประเทศมีการเรียกเก็บค่าธรรรมเนียมเพิ่ม
ขณะที่นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่าการประกาศยุติบริการแพลตฟอร์ม JD CENTRAL ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 มีนัยยะสำคัญกับตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย ทำให้แบรนด์มีทางเลือกหรือ ช่องทางการขายลดลง และเป็นเรื่องที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กขค. ต้องเริ่มเข้ามาศึกษาผลกระทบจากกรณีที่ผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสไทยเหลือ 2 ราย เพราะการผูกขาดทางการค้าหรืออำนาจเหนือตลาดจะรุนแรงกว่าธุรกิจค้าปลีก อีกทั้ง 2 รายกำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะทำกำไร สามารถควบคุมหรือบีบร้านค้า ซึ่งปลายปีที่ผ่านมา ลาซาด้า ก็มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นกขค.ควรจะเข้าไปดูเรื่องโครงสร้างราคาเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือนึกอยากจะขึ้นค่าคอมมิชชั่น หรือค่าธรรมเนียมก็ขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ และร้านค้าต่างๆ ที่ขายสินค้าบน 2 แพลตฟอร์มนี้
ทั้งนี้จะมีการหยิบยกประเด็นการปิดให้บริการแพลตฟอร์ม JD CENTRAL จนทำให้เหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย เข้าไปหารือในการประชุมกรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซหลังจากนี้
อนึ่งข้อมูลจากลาซาด้า ระบุว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งตลาด B2C และ C2C ในประเทศไทยปี 2565 ที่มีมูลค่ารวม 818,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 14% จากในปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าแตะ 1.6 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่าคนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก คือโดยเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวัน โดยกิจกรรมยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ การรับชมความบันเทิง การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสาร และการช้อปปิ้งออนไลน์