ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวว่า Google ประเทศไทย ได้รวบรวมผลวิเคราะห์พฤติกรรมจากการค้นหาของผู้บริโภคไทยตลอดทั้งปีจากรายงาน Year in Search ของประเทศไทย ประจำปี 2565 (Year in Search 2022 - Thailand report)
เพื่อเป็นแนวทางในการทำการตลาดและการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในปี 2566 ให้สอดรับกับพฤติกรรมและเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ควบคู่ไปกับความไม่แน่นอนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเริ่มแสวงหาการใช้ชีวิตตามวิถีของตนเองที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการดำเนินชีวิต การทำงาน และความเป็นตัวตน
“Google Search เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คนไทยหลายล้านคนเลือกใช้ในค้นหาข้อมูลตามความสนใจ ซึ่งในทุกๆ ปีเราจะเห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคจากการวิเคราะห์ข้อมูลการค้นหาบน Google Search นับพันล้านครั้ง และได้มีการประมวลออกมาเป็นเทรนด์ต่างๆ จากรายงาน Year in Search ของประเทศไทย ประจำปี 2565 นี้ เราได้สรุปออกมาเป็น 3 เทรนด์พฤติกรรมของคนไทยจากการค้นหาของผู้บริโภคตลอดทั้งปี เพื่อช่วยให้นักการตลาดและผู้ประกอบการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเข้ามาได้ดียิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการทำการตลาดและวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อรับมือในปี 2566 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
รายงานของประเทศไทย ประจำปี 2565 ได้แบ่งเทรนด์ของผู้บริโภคออกเป็น 3 เทรนด์หลัก ได้แก่
การค้นหาตัวตนที่แท้จริง
หลังช่วงเวลา 3 ปีแห่งความไม่แน่นอนที่ผ่านมา คนไทยเริ่มมีมุมมองใหม่ๆ ที่ค้นหาว่าตัวเองเป็นใครและมีความสามารถอะไรบ้าง การยอมรับความเป็นตัวตนที่หลากหลายและไม่ถูกจำกัดด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ความสนใจในการค้นหา “สมรสเท่าเทียม” เพิ่มขึ้น 800% ควบคู่ไปกับการค้นหา “LGBTQ” ที่เพิ่มขึ้น 110% ในขณะเดียวกัน ผู้คนมีความต้องการที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เห็นได้จากการค้นหา “work-life balance” ที่เพิ่มขึ้น 100% นอกจากนี้ คนไทยยังเข้าถึงเทรนด์โลกและหวนคิดถึงความหลังด้วยการค้นหาเทรนด์ย้อนยุคอย่าง “Y2K” ที่เพิ่มขึ้น 370%
การค้นหาคุณค่า
ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้คนไทยเริ่มเปลี่ยนมุมมองและให้ความสำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยการค้นหา “เงินเฟ้อ” เพิ่มขึ้น 140% รวมถึงมีการตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้น เห็นได้จากการค้นหา “จ่ายทีหลัง” ที่เพิ่มขึ้น 100% นอกจากเรื่องราคาแล้ว ความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อผู้บริโภค เห็นได้จากการค้นหา "น่าเชื่อถือ" ที่เพิ่มขึ้น 30% และในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคไทยยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นจากการค้นหา “net zero” (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ที่เพิ่มขึ้นถึง 330% และการค้นหา “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่เพิ่มขึ้น 90%
การค้นหาความสุข
จากการที่คนไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและอุปสรรคต่างๆ มากมาย ทำให้พวกเขาเริ่มตระหนักถึงการใช้ชีวิตแบบไม่หยุดชะงักอีกต่อไป เห็นได้จากการค้นหาวิธีการปรนนิบัติตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้วยการทวงคืนอิสรภาพในการจับจ่ายหลังจากที่ต้องทนอัดอั้นมานาน จากการค้นหา “ปิ้งย่าง ใกล้ฉัน” ที่เพิ่มขึ้นถึง 110% ตามมาด้วยการค้นหา “สนามกอล์ฟ ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 80% รวมทั้ง ผู้คนที่ต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยการค้นหา “ทัวร์ต่างประเทศ” เพิ่มขึ้นถึง 100% นอกจากนี้ ผู้คนยังได้ผสานชีวิตออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันเพื่อช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการค้นหา “จองร้านอาหาร” เพิ่มขึ้น 70% ส่วนการค้นหา “จองคิว” ได้เพิ่มขึ้น 60% โดยเฉพาะการค้นหาการจองคิวต่ออายุหนังสือเดินทางและใบขับขี่ล่วงหน้า