พลิกโฉมการแพทย์ - นวัตกรรม ปั้น 'เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน' ฝีมือคนไทย

29 พ.ย. 2565 | 17:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 00:04 น.

นับถอยหลัง ' ห้องปฎิบัติการ และ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ' ฝีมือไทย เทียบชั้นประเทศจีน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ชี้ เป็นความหวัง ดัน เป้าหมาย EECi สู่ศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลก พลิกโฉมการแพทย์ และ อุตสาหกรรมไทย

29 พ.ย.2565 - ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ผู้จัดการโครงการสร้าง เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และ ห้องปฎิบัติการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อผลักดันเป้าหมาย EECi สู่ ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง ในเวทีเสวนา EECi ศูนย์กลางสร้างนวัตกรรม สู่เวทีโลก ในงาน  “The Big Issue 2022 : EECi พลิกโฉมประเทศไทย สู่ศูนย์กลางนวัตกรรมภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้ นับเป็นความท้าทายของประเทศไทย หลังจากสถาบันฯ กำลังผลักดัน การพัฒนา 'เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน' ใช้เองในประเทศ สำหรับงานวิจัยด้านการแพทย์ – เกษตร – อุตสาหกรรม และอื่น ๆ ในพื้นที่ EECi 

พลิกโฉมการแพทย์ - นวัตกรรม ปั้น \'เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน\' ฝีมือคนไทย

ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะนับเป็นเครื่องแรกจากฝีมือคนไทย และ เป็นเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย หลังจาก เครื่องแรกที่มีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน  ได้รับการบริจาคมาจากรัฐบาลญี่ปุ่น มานานถึง 20 ปี และ ถึงขีดจำกัดแล้ว 

 

ทั้งนี้ เป้าหมายข้างต้น ก็เพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพ ของ EECi ให้เหนือชั้น เทียบเท่าประเทศต้นแบบ อย่างประเทศจีน ที่มีความก้าวหน้า ทางด้านเทคโนโลยี และ นวัตกรรมสมัยใหม่ ผ่านการมีศูนย์วิจัย เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนถึง 3 แห่ง และ อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 5 แห่งด้วย 

โดยแผนงานของการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ที่จะมีระดับพลังงาน 3 GeV สูงกว่าเครื่องแรกและ ห้องปฎิบัติการนั้น ขณะนี้อาคารเฉพาะถูกออกแบบแล้วเสร็จแล้ว ส่วนตัวเครื่อง อยู่ระหว่างการออกแบบด้านฟิสิกส์ ด้านวิศวกรรม และ ทำต้นแบบขึ้นมา ก่อนนำไปประกอบ ทดสอบคุณสมบัติของส่วนประกอบสำคัญๆ เช่น  แม่เหล็ก และ ท่อสูญญากาศ โดยแต่ละส่วนงาน สถาบันได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน หลายฝ่าย 

 

ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น นอกจาก จะช่วยประหยัดงบประมาณมากกว่าเท่าตัว แทนการสั่งซื้อติดตั้งใหม่ คนไทยจะได้องค์ความรู้ระหว่างการพัฒนาคิดค้นด้วย ส่วนในอนาคต เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV รวมถึง ห้องปฎิบัติการดังกล่าว  จะทำหน้าที่ ในการวิเคราะห์โมเลกุล โครงสร้างเชิงลึกต่างๆ เช่น ประโยชน์ในทางการแพทย์ การค้นหา โมเลกุล เอนไซม์ ของไวรัสอุบัติใหม่

 

โดยการใช้แสงซินโครตรอนที่มีศักยภาพสูง นำไปสู่ การคิดค้นตัวยา และ วัคซีน หรือ ยาต้านสกัดยับยั้ง ,การวิจัยเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน ,การวิเคราะห์สารอาหารในพืช-เมล็ดข้าว และ วัสดุเชิงลึก ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เครื่องมือเดิมๆ ไม่สามารถให้คำตอบได้ 

 

โดย เครื่องมือดังกล่าว น่าจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร , อุตสาหกรรมพลังงาน และ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น 

พลิกโฉมการแพทย์ - นวัตกรรม ปั้น \'เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน\' ฝีมือคนไทย