ภายหลังมาตรการคลายล็อกอนาคตสตาร์ทอัพไทยดูสดใสขึ้นมาทันที โดยทยอยออกมาประกาศความสำเร็จในการระดมทุน โดย “ฐานเศรษฐกิจ”ได้รวบรวมตัวเลขลงทุนสตาร์ทอัพของไทยช่วง 2 เดือน (ก.ย.-ต.ค. 65) ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท
เริ่มต้นจาก LINE MAN Wongnai ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบซีรีส์บี มูลค่า 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9,700 ล้านบาท) นำโดย GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ และบริษัท LINE Corporation ในการระดมทุนรอบนี้ยังมี BRV Capital Management, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR), Bualuang Ventures และ Taiwan Mobile ร่วมลงทุนด้วย การระดมทุนครั้งนี้ทำให้บริษัทมีมูลค่าหลังระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.7 หมื่นล้านบาท) ขึ้นเป็นเทคสตาร์ตอัพที่ใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อวัดจากมูลค่าบริษัท และการเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายใหม่ของไทย
รายต่อมาคือ บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเรียนภาษาต่างประเทศออนไลน์แบบตัวต่อตัวกับเจ้าของภาษาผ่านการสื่อสารโดยตรงด้วยระบบวิดีโอคอลในชื่อ โกลบิช (GLOBISH) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) ปิดดีลระดมทุนกว่า 90 ล้านบาท ก้าวสู่ระดับ Series A+ ครั้งแรก โดยดีป้าพร้อมเครือข่ายพันธมิตรบริษัทเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ชั้นนำอย่าง Premier, NVEST Venture,ECG, 500 TukTuks, StormBreaker Venture และ RareJob รวมทั้ง BonAngels เข้าลงทุนใน ระยะเติบโต (Growth Stage) ที่มุ่งเดินหน้าตามแผนยกระดับองค์กรเป็นผู้นำ EdTech ของภูมิภาคอาเซียน ก่อนขยายออกสู่ตลาดโลก ยกระดับแพลตฟอร์มสู่ผู้นำทางการศึกษา ด้วยทักษะแห่งอนาคต
ขณะที่ กรีน เยลโล่ ผู้ลงทุนและดำเนินงานระดับโลกด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สามารถระดมทุนครั้งล่าสุดสำเร็จเป็นมูลค่า 831 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) โดยทุนนี้จะเข้ามาสนับสนุนการดำเนินกิจการของ กรีน เยลโล่ ในการขยายพอร์ตฟอลิโอโครงการพลังงาน ร่วมถึงโครงการโซลาร์เซลล์ของบริษัท ผลักดันการขยายธุรกิจในประเทศไทยต่อไป รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนลูกค้าของกรีน เยลโล่ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นให้คุ้มค่ามากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี ออโต้แพร์ บริษัทให้บริการโซลูชั่นซอฟต์แวร์ ด้านระบบสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ออนไลน์ ระบบบริหารอู่ซ่อมรถยนต์แบบครบวงจร และระบบบริหารคลังสินค้าสำหรับผู้จำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ ประสบความสำเร็จในการระดมทุน Series A มูลค่ากว่า 70 ล้านบาท จาก มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น เพื่อเดินหน้าพลิกโฉมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ทดแทนยานยนต์ของไทย
สุดท้าย คือ ฟอร์เวิร์ด (Forward) ฟินเทคสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนและนวัตกรรมการเงินการลงทุนด้านการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) ประสบความสำเร็จปิดระดมทุนรอบ Seed Round ประมาณ 160 ล้านบาท หรือ 5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลังเปิดระดมทุนเพียง 6 เดือน ท่ามกลางความผันผวนของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่และตลาดทุน โดยการเข้าลงทุนรอบนี้ นำโดยกองทุน RPVAF-1 ภายใต้การบริหารของ Primestreet Capital, Beacon Venture Capital จากธนาคารกสิกรไทย (KBANK), Krungsri Finnovate จาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และกองทุนจาก KASIKORN X ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนเพิ่มเติมจาก Ratanakorn Technology Group, GBV Capital, และ Varys Capital ที่ได้ยืนยันลงทุนไปก่อนหน้านี้