การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เพื่อพิจารณาการรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) (TRUE Corp) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (DTAC) เมื่อวานนี้ ( 20 ต.ค.) มาราธอนนานกว่า 11 ชม. ก่อนมีมติ 3 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าบอร์ด กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตควบรวมกิจการแบบมีเงื่อนไข
โดยกรรมการ กสทช. 2 เสียงที่ไม่เห็นชอบ นั่นคือ นายศุภัช ศุภชลาศัย และศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต
ล่าสุดศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ถึงเหตุผลของการสงวนความเห็น ยืนยันจุดยืน ไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ด้วยข้อกังวลผลกระทบต่อผู้บริโภคและสาธารณะอันเนื่องมาจากแนวโน้มของสภาวะการแข่งขันที่จะเป็นปัญหาหลังการควบรวม โดยระบุดังนี้
ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่างเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งชัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำฮันเป็นการผูกขาคหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งข้นในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกียวข้อง
เหตุผลในการยืนยันที่จะไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจมี 7 ข้อ ได้แก่
1) เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ dtac แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย (เกิดสภาวะDuopoly)
2) SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบาย การสื่อสารระดับโลกสรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น
ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการ จะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาตด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ
3) การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับ ผู้ขอรวมธุรกิจนั้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่
4) ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ
5) การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม
6) การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่นกรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นกรณีของต่างประเทศว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ
7) หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขัน ที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น
ถึงแม้จะแพ้โหวต แต่ ศ.ดร.พิรงรอง เห็นว่าบทบาทของการเป็น กสทช. จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ และให้ความเห็นในทุกมิติที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและประโยชน์สาธารณะ จึงได้เสนอในที่ประชุมให้พิจารณาเรื่องเงื่อนไขและข้อเสนอแนะสำหรับมาตรการเฉพาะก่อนและหลังการรวมธุรกิจ ดังต่อไปนี้
(1) NewCo ขายกิจการบริษัท DTN ให้กับผู้ประกอบกิจการหรือเอกชนรายอื่นที่มีศักยภาพและไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทของผู้ขอรวมธุรกิจ โดยเป็นการโอนคลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโอนถ่ายฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั้งหมด หรือขายหุ้นบางส่วน เพื่อให้ NewCo ถือครองหุ้นในธุรกิจประเภทเดียวกัน ไม่เกินร้อยละ 10 (เช่นNewCo ถือหุ้นใน TUC ร้อยละ 99.9 แต่ถือหุ้นใน DTN ได้ไม่เกินร้อยละ 10)
(2) มิเช่นนั้น จะต้องคืนคลื่นความถี่ที่เกินเพดานการประมูล ได้แก่ คลื่น 2100 MHz จำนวน 2x15 MHz และ คลื่น 700 MHz จำนวน 2x10 MHz รวมทั้งกำหนดให้ลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยร้อยละ 20 จากอัตราค่าบริการขั้นสูง (Price Cap) โดยผู้ขอรวมธุรกิจจะต้องคิดอัตราค่าบริการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละแพคเกจ และประกาศอัตราค่าบริการให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ พร้อมกับมีบทลงโทษ หากผู้ขอรวมธุรกิจทำไม่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดเงื่อนไขให้มีการขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 85 ภายใน 3 ปี มีเพียงประเด็นการขยายโครงข่าย 5G ที่ได้รับความเห็นชอบตามมติที่ประชุม กสทช.