วันที่ 18 ตุลาคม 2565 จากกรณีในวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. มีประชุมวาระพิเศษเรื่องความคืบหน้าควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เพื่อหาข้อสรุปรับทราบอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ดีลแสนล้านครั้งนี้
ล่าสุดฝ่ายประชาสัมพันธ์ DTAC ได้เผยแพร่ข้อความเปิด 5 หลักการควบรวมธุรกิจ พาไทยสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน รายละเอียดดังนี้ ประเทศไทยกำลังปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใต้บริบทความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นตัวแปรที่สำคัญ เจตนารมณ์หลักของการรวมธุรกิจของดีแทคและทรูคือการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแบบก้าวกระโดด และการกำหนดยุทธศาสตร์ให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียม เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
ทั้งดีแทคและทรูมีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่แรกในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำสู่ประเทศไทย เพื่อแข่งขันในอาเซียนและภูมิภาคอื่น การควบรวมกิจการจะช่วยส่งเสริมเรื่องการขยาย 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งสองฝ่ายจะพลิกโฉมประเทศไทยสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการนำขีดความสามารถและทรัพยากรมาสร้างการเติบโตให้กับประเทศ ดังนั้น เราจึงขอให้ กสทช. พิจารณาถึงความได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคมตามหลักสากล รวมถึงให้ดีแทคและทรูมีส่วนร่วมกับ กสทช. ในขั้นตอนการควบรวมกิจการ เพื่อให้มั่นใจว่าการควบรวมจะ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค
หลักการสำคัญ 5 ข้อ ของ บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีเพื่อทุกคน
1. บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะให้บริการสู่ความเป็นเลิศด้านดาต้า
ทั้งนี้ องค์กร Cable.co.uk ได้ทำการสำรวจค่าบริการใช้งานดาต้า 1GB จากประเทศทั่วโลกในปี 2565 พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้มีค่าบริการดาต้าที่ถูกที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีต้นทุนคลื่นความถี่สูงที่สุดในโลกก็ตาม โดย Cable.co.uk ยังมีรายงานสำรวจอัตราความเร็วอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลกเมื่อปี 2564 พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นที่ทำความเร็วได้ดี สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตดาวน์โหลดความเร็วเฉลี่ยประมาณ 54 Mbps
ผู้ใช้มือถือชาวไทย ไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือรายได้น้อย อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด นั้นสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วคุณภาพสูง เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ด้วยราคาที่เข้าถึงได้และไม่แพง และจะยังคงเป็นเช่นนี้หลังจากการควบรวมกิจการ โดยบริษัทใหม่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายซึ่งเหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าทุกคนในราคาที่เข้าถึงได้
2. บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะมอบประสบการณ์เครือข่ายชั้นนำเพื่อคนไทย
บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี พร้อมยกระดับประสบการณ์ใช้งานมือถือและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G และ 4G ให้ดีขึ้นกว่าเดิมทันทีด้วยการนำจุดแข็งของทั้งดีแทค-ทรูมาผนึกกำลังร่วมกัน สัญญาณครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน (Coverage) มากยิ่งขึ้น และเพิ่มความจุรองรับการใช้งาน (Capacity) ให้ลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมาย เครือข่ายที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้นจะทำให้ประชากรไทยทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน
เจตนารมณ์ของการควบรวมกิจการคือการเพิ่มขีดความสามารถเครือข่ายทั่วประเทศแบบก้าวกระโดด รวมถึงการขยาย 5G ทั่วประเทศที่รวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ยิ่งขึ้น พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีในชุมชนต่างๆ การขยายโครงข่ายอย่างรวดเร็วนี้เป็นการลงทุนที่สำคัญในโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบนิเวศที่สมบูรณ์เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศอย่างรวดเร็ว โครงสร้างพื้นฐาน 5G จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยในการผลักดันเทคโนโลยี 5G มาใช้ และวางรากฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมในอนาคต ทั้งนี้ ตามรายงานโดยการวิจัยของ GSMA คาดว่า 5G จะช่วยผลักดันการเติบโตของ GDP ในประเทศไทยที่มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท) ในปี 2573
3. บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะให้บริการดิจิทัลและประสบการณ์ที่เหนือกว่าการเชื่อมต่อ
ด้วยขนาดองค์กร และความเชี่ยวชาญ จะทำให้บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีสามารถดึงดูดผู้ให้บริการเทคโนโลยีและผู้นำด้านดิจิทัลระดับโลกในฐานะพันธมิตร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการล่าสุดได้ก่อนใคร เช่น Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) และ Metaverse ซึ่งจะไม่เพียงแค่เชื่อมต่อผู้คนเท่านั้น แต่ยังนำเสนอนวัตกรรมอุปกรณ์ใหม่ๆ ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และการเข้าสู่การใช้งานบิ๊กดาต้าและ AI ซึ่งต้องการความเร็ว 5G ที่เหนือกว่า ความก้าวหน้าของโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมระดับภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย
บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี แห่งใหม่นี้จะทำงานใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมหลักต่างๆ และภาครัฐเพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการต่างๆ ให้ล้ำสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงร่วมผลักดันตามแผนที่รัฐบาลไทยมุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย และประเทศไทย 4.0 ในการสร้างบริการอัจฉริยะด้านสุขภาพ เกษตรกรรม การผลิต และการขนส่ง เป็นต้น
4. บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะนำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมาช่วยผลักดันธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย
บริษัทใหม่และพันธมิตรจะระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของสตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น และ บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและความเชี่ยวชาญที่พัฒนาจากเทเลนอร์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติ
กองทุน VC จะสร้างทักษะงานดิจิทัลใหม่ๆ นับพันตำแหน่ง เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะก่อประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจ และการสร้างสิทธิบัตรใหม่ต่างๆ สำหรับประเทศไทย รวมถึงกองทุน VC มีแผนสนับสนุนภาพรวมของระบบนิเวศสตาร์อัพไทย ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจมูลค่าสูงสุดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ดังนั้นการควบรวมนอกจากจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าแล้วยังเพิ่มมูลค่าให้กับ GDP อีกด้วย
5. บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะรักษามาตรฐานสูงสุดในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และจะส่งเสริมแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG - Environmental, Social, Governance)
บริษัทใหม่จะยึดมั่นประโยชน์ของลูกค้าและสังคมไทยเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ และมุ่งสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมที่เท่าเทียมและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย บริษัทใหม่จะเดินหน้ายกระดับวิถีการทำงานภายในองค์กร ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG - Environmental, Social, Governance) อันจะช่วยให้สามารถรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทใหม่จะยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและหลักปฏิบัติสากลสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ พร้อมทั้งปกป้องข้อมูลของลูกค้า เคารพความเป็นส่วนตัว และให้ความสำคัญสูงสุดในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีจะผลักดันผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีความสามารถพิเศษในองค์กรของบริษัทใหม่ให้มีโอกาสเติบโตและพัฒนาศักยภาพอย่างไร้ขีดจำกัดในทุกๆ วัน ท่ามกลางวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่ง Empower คนทำงาน รวมทั้งเคารพในสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายของทุกคน
ในการนี้จึง เราได้กำหนดหลักการ 5 ข้อของบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี (Telecom-tech Company) เพื่อเป็นจุดยืนที่ชัดเจนในการทำเพื่อคนไทย และแสดงเจตจำนงของเราในการสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่อนาคต โดยผู้ถือหุ้นหลักเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเทเลนอร์กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันคุณค่าสูงสุดให้ลูกค้าของเรา รวมทั้งการขับเคลื่อนโอกาสให้สังคมไทยเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล