“กสทช.” แถลงผลงาน 3 เดือน ปัดพูดควบรวมดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” ขอพูดเวทีอื่น

26 ก.ค. 2565 | 13:57 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2565 | 03:48 น.

“กสทช". แถลงผลงาน 3 เดือน ปัดพูดดีลแสนล้านควบรวม “TRUE-DTAC” ขอพูดเวทีอื่น ขณะที่ “พิรงรอง” ย้ำ 3 เดือนมีแต่เรื่องน้ำผึ้งขมโดยเฉพาะควบรวม เผยวันที่ 3 สิงหาคม จะนำสรุปรายงานโฟกัสกรุ๊ป เข้าที่ประชุมบอร์ดและจะพยายามไม่ให้ยืดเยื้อ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ กสทช.  แถลงผลงานในรอบ 3 เดือน ว่า เป็นวันที่ 99 ที่เราก้าวย่างเข้ามาใน กสทช. และเป็นวันแรกได้พบสื่อมวลชน วันนี้ยังไม่พูดเรื่องควบรวมเก็บไว้เวทีอื่นพูดควบรวม ในภาพรวมส่วนหนึ่ง งานหลักจัดสรรคลื่นความถี่กำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคานาคม ที่ดำเนินการอยู่ 


สำหรับวิสัยทัศน์ที่ได้เสนอไว้นั้น คือ เทเลเมดิซีน เนื่องจากผ่านประสบการณ์ทางด้านหมอ จึงได้สนใจเรื่องสาธารณสุขเนื่องจาก กสทช. มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) หรือ USO อยู่แล้วครอบคลุม 90% ของประชากร เป็นภาระอันหนึ่งที่ได้รับอาสาเข้ามาทำ และ การจัดระเบียบสายสื่อสารทำได้พอประมาณแล้วดังนั้นในปีนี้ และ ปีหน้าจะทำให้เพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ

 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. (ด้านอื่นๆ ที่จะยังปรับประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์)เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วิสัยทัศน์ที่ได้นำเสนอ คือ การปรับองค์กรให้เป็นองค์กรวิชาการมากขึ้นมีความรู้ความสามารถสูงในการแข่งขันชั้นนำทั้งในประเทศไทยและระดับภูมิภาค เป็นองค์กรที่กำกับดูแล เป็นองค์กรชั้นนำที่มีความเป็นสากลเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และ มีเครือข่ายทางวิชาการที่เข้มแข็งกับองค์กรด้านการกำกับดูแลและสถาบันวิชาการในต่างประเทศรวมทั้ง่องค์กรระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้ สายงานวิชาการจะแบ่งออกเป็น 4 สำนัก และ 1 ศูนย์ โดยมีขอบเขตหน้าที่ครอบคลุมการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายเชิงคุณภาพ เช่น การติดตามการแข่งขัน การประเมินผลกระทบทางสังคมจากนโยบายกำกับดูแล งานด้านวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและพลวัตการแข่งขัน เป็นต้น การประเมินผลกระทบทางนโยบายเชิงปริมาณ เช่น การประเมินด้านราคา มูลค่าคลื่นความถี่ การคำนวณราคาตั้งต้นในการประมูลคลื่นความถี่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล งานวิชาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ด้านต่างประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่เข้มแข็ง เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ โดยขณะนี้สำนักทรัพยากรบุคคลและคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างสายงานวิชาการของสำนักงาน กสทช. อยู่ในระหว่างจัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงโครงสร้างสายงานวิชาการให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
 

ยกระดับกิจการกระจายเสียงไทย
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง เปิดเผยว่างาน หลักกิจการกระจายเสียงรับผิดชอบโดยตรง กำหนดวิสัยทัศน์ ยกระดับกิจการกระจายเสียงไทย มีนโยบายในการมุ่งเน้นส่งเสริมมากกว่ากำกับดูแล ในรอบที่ผ่านมาเรามีการเจรจาทุกฝ่ายช่วงแรกปรึกษาหารือผู้ประกอบการโดยตรง 

 

ส่วนงานดาวเทียม ได้ดำเนินการ ปรับปรุง หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) แล้วเสร็จ โดยได้มีการปรับปรุงที่สำคัญได้แก่ การจัดชุด จากเดิม 4 ชุด เป็น 5 ชุด และกำหนดเงื่อนไขแต่ละชุดให้มีความแตกต่างกันตามสภาพของข่ายงานดาวเทียม รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลให้มีความชัดเจนในแต่ละชุด เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้มากขึ้น พร้อมทั้งปรับราคาขั้นต่ำของแต่ละชุดให้เป็นไปตามสภาพปัจจุบันที่สอดคล้องตามกลไกของตลาด กำหนดราคาขั้นต่ำของแต่ละชุดใหม่ เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ได้เพิ่มมาตรการป้องกันการสมยอมราคาด้วยเช่นกัน โดยมีแผนการดำเนินการที่รัดกุมตั้งแต่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศฯ ในเดือนสิงหาคมนี้ และในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม จะเป็นการแก้ไข (ร่าง) ประกาศฯ และนำเสนอ กสทช. อนุมัติ เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ให้มีการรับเอกสารการคัดเลือก เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2565: จะเปิดให้ยื่นเอกสารและหลักฐานการขอรับอนุญาต และจะเปิดให้มีประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในเดือนธันวาคม 2565

 

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

 

3 เดือนมีแต่เรื่องน้ำผึ้งขมโดยเฉพาะควบรวม

ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กล่าวถึงการดำเนินงานในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาว่า 3 เดือนมีแต่เรื่องน้ำผึ้งขมโดยเฉพาะเรื่องควบรวม TRUE และ DTAC  วันที่ 3 สิงหาคม 2565 คือวันกำหนดที่สำนักงานจะต้องส่งข้อมูลทั้งหมดให้บอร์ด ซึ่งรวมถึง รายงานของสำนักงาน ผลจากโฟกัสกรุ๊ปทั้งหมด และ รายงานของจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย หลังจากวันที่ 3 สิงหาคม 2565 จะดำเนินการพิจารณา และ จะพยายามไม่ให้ยืดเยื้อ 

 


สำหรับการแก้ไขปัญหา scam กสทช.ได้มีแนวทางดังต่อไปนี้

ในส่วนวิสัยทัศน์ มี 3 เรื่องสำคัญที่ได้มีบทบาทในการผลักดัน คือ การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อความสั้นหลอกลวง (scam) การพัฒนาและสร้างกลไกในการกำกับดูแลเนื้อหาให้มีคุณภาพ และ การสนับสนุนชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินการทีวีชุมชน


1.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 10 องค์กรเพื่อประสานความร่วมมือในกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการกระทำผิดและดำเนินการจับกุมได้ทันท่วงที โดยในส่วนของ กสทช. เอง ได้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายและกำหนดโทษทางปกครองสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ฝ่าฝืนไม่ได้ดูแลการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่ถือมากกว่า 5 เลขหมาย (ซิม) เนื่องจากพบข้อมูลจากทางตำรวจว่ามิจฉาชีพ scam อยู่ในกลุ่มที่ฝ่าฝืนกฎนี้เป็นจำนวนมาก

 


2.กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดหามาตรการทางเทคนิคให้มีระบบแจ้งเตือนประชาชน เช่น การใช้เครื่องหมาย +698 นำหน้าเลขหมายเพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการโทรเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีระบบเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการรับสายโทรศัพท์จากต่างประเทศได้


3.จัดให้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนโดยจัดทำในรูปแบบ SCAM Alert เพื่อให้ข้อมูลตัวอย่างวิธีการฉ้อโกง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และหน่วยงานที่ต้องติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น 

 

ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต

 

ขณะที่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์  กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า เป้าหมายให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงบริการสื่อสารได้ ดิจิทัลดีสรับชั่นถูกใช้ผ่านระบบโทรคมนาคมเกิดสถานะคนใหม่ คือ ผู้ด้อยโอกาส ไม่สามารถเข้าถึง เป้าหมายสำคัญทำอย่างไรลดช่องว่าง การทำงานช่วงสามเดือนเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึง และ การทำงานที่เข้ากับหน่วยงานภาครัฐโดยตรง


สำหรับการกระจายโครงข่ายแม้ครอบคลุม แต่ในบางพื้นที่การให้บริการไม่เท่าเทียมกัน และ ราคาต่างๆ เม็ดเงินจ่ายไปไม่มาก เม็ดเงินความเป็นธรรมยังพบว่าประชาชนยังมีอุปสรรคในเรื่องราคา กลไก ของ กสทช.เข้าไปช่วยได้  รวมถึงการยกร่าง USO แผนที่สี่ และเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปประชุมที่ประเทศรวันดา ในงาน World Telecommunication Development Conference (WTDC) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคมและ ICT ที่เป็นหน่วยงานหลักในการลดช่องว่าง ซึ่งได้ร่วมแสดงปณิธานและให้คำมั่นสัญญาว่าเราให้ความสำคัญกับการดำเนินการขยายการเชื่อมโยง Digital Inclusion มาสู่ชุมชนและกลุ่มคนที่การเข้าถึงยากที่สุด เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีความหมาย และเป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนคนพิการเข้าไปในการประชุม ITU

นายต่อพงศ์ เสลานนท์