สหภาพ NT ร้อง”ซีอีโอ-บอร์ด”ขวางดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”

01 เม.ย. 2565 | 12:03 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 19:13 น.
747

สหภาพ NT ร้องซีอีโอ-บอร์ดขวางดีลรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” หวั่นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐถูกเบียดออกจากตลาด

รายงานข่าวจากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมานายประสาน จ่างูเหลือม ประธานกลุ่มผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT )พร้อมนายนราพล ปลายเนตร ที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ ประธานกรรมการบริษัทเอ็นที และ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์  รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT เพื่อขอให้ NT ในฐานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทดีแทคได้คัดค้านดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคที่กำลังดำเนินการอยู่

สหภาพ NT ร้อง”ซีอีโอ-บอร์ด”ขวางดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”

โดยขอให้ใช้เวทีประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 เม.ย.นี้ โหวตคัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยให้คำนึงความมั่นคงขององค์กรต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ในกรณีที่อาจเกิดการทุ่มตลาดจากการที่ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเหลืออยู่เพียง 2 ราย

นายประสานกล่าวว่า แม้ NT จะถือหุ้นในดีแทคเพียงส่วนน้อย และแม้จะต้องแพ้มติผู้ถือหุ้นเสียงส่วนใหญ่ แต่เสียงของ NT ในฐานะหน่วยงานของรัฐ จะเป็นเครื่องสะท้อนให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่สนับสนุนการผูกขาด ดังนั้นเราจึงวิงวอนขอให้ทั้ง CEO และประธานบอร์ด NT คัดค้านดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคในทันที 

 

ด้าน นายนราพล ปลายเนตร ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานเอ็นทีกล่าวว่า ในฐานะพนักงานของ NT ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งในบริการโทรคมนาคมของประเทศ แม้จะมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากเท่าเอกชนทั้ง 3 ราย แต่เราก็มีจุดแข็งที่เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่องค์กร เพื่อให้สามารถทำภารกิจตามนโยบายของรัฐ ที่ภาคเอกชนไม่อาจทำแทนได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ประชาชน  ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคในครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อ NT อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านรายได้ของ NT ที่จะลดลง และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมซึ่งอาจบั่นทอนให้ NT ซึ่งเป็นรายเล็กสุดอาจต้องล้มหายตายจากไป

การประกาศดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคทำให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และภาคประชาชนต่างเห็นตรงกันว่ามีประเด็นปัญหาในทุกด้าน ทั้งในด้านข้อกฎหมายว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายในด้านการแข่งขันตามกลไกของตลาดเสรี ที่จะเกิดการผูกขาดมีอำนาจเหนือตลาด แม้แต่ในมุมของผู้บริโภคที่จะเสียประโยชน์จากการได้รับบริการที่ดี และในมุมของอุตสาหกรรมที่เป็นการขจัดคู่แข่งที่มีกำลังน้อยให้ออกจากตลาดไปเพราะไม่สามารถสู้กับรายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงได้โดยปริยาย”