“หมอลี่”แฉดีลรวม“ทรู-ดีแทค”ไม่เคยถูกบรรจุวาระประชุมบอร์ด กสทช.

18 ก.พ. 2565 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2565 | 00:24 น.

“หมอลี่”แฉดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ไม่เคยถูกบรรจุในวาระการประชุมบอร์ด กสทช. สำนักงาน กสทช.รายงานด้วยวาจาก่อนปิดประชุมบอร์ด 2 ครั้งหลังสุด ทำให้บอร์ดไม่มีเวลาพิจารณา โยนบอร์ดชุดใหม่พิจารณา โดยต้องวิเคราะห์ตลาดมองไปในอนาคต

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช กล่าวในงานเสวนา  Consumers Forum EP.1 “ดีล True - Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค”  โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่าตั้งแต่มีข่าวการควบรวมกิจการนั้นสำนักงาน กสทช.  มีการเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจง มีการประสานงานคณะกรรมการ กขค.    แต่ไม่เคยนำเรื่องดังกล่าวบรรจุในวาระการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)  กสทช.  ในระยะเวลา 3 เดือน เพิ่งมี  2  ครั้งหลังสุดที่มีการรายงานด้วยวาจา  โดยไม่มีเอกสารวาระ  ก่อนปิดวาระทั้ง  2 ครั้ง 

“หมอลี่”แฉดีลรวม“ทรู-ดีแทค”ไม่เคยถูกบรรจุวาระประชุมบอร์ด กสทช.

ดังนั้นกรรมการ กสทช. จึงไม่มีเวลาถกแถลง  หรือ หารือว่าจะทำอย่างไร มันก็เป็นปัญหาที่ตัวข้อเท็จจริงยังอยู่ในชั้นสำนักงานทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดการหารือกับ กขค.  ที่กรรมการไม่ได้รับทราบข้อมูล  ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนของการบริหารของสำนักงาน กสทช.  ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ให้ขึ้นกับใคร  แต่ไม่ขึ้นกับคณะกรรมการ กสทช.  ประเด็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ตัวกฎหมายผู้ร่างคือสำนักงาน กสทช. ประกาศแก้ไข การรวมกิจการปี 61  ก็ร่างโดยสำนักงาน กสทช. 

 

โดยสรุปผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประกาศปี 61  เพราะเห็นว่าประกาศปี 63 ยังมีสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานอยู่  และถ้าเกิดจะแก้ประกาศการแข่งขัน ข้อเท็จจริง ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคม  อยู่ภายใต้กฎหมายบริษัทมหาชน อยู่ภายใต้ตลาดหลักทรัพย์ฯ  และมีบริการประเภทอื่น ที่อยู่ภายใต้ กขค.  ตน ก็เลยเสนอว่าการแก้ประกาศกฎหมายโทรคมนาคม นั้นควรต้องขอความเห็นจะคณะกรรมการ กขค.บ้าง  เชิญ กลต. หรือตลาดหลักทรัพย์ มาให้ความเห็น  แต่ที่ผ่านมาไม่มี  เป็นการยกร่างโดยสำนักงาน และผ่านที่ประชุมไป  เข้าใจว่า กรรมการ กสทช. ไม่เอะใจเลยว่ามันเป็นการยกเว้นอำนาจพิจาณาไป   เป็นการประกาศเพื่ออำนวยการควบรวมธุรกิจ  ไม่ได้ประกาศเพื่อพิจารณาผลกระทบการรวมธุรกิจแล้วมาให้พิจารณาว่าควรจะให้รวมหรือไม่รวม

นพ.ประวิทย์  กล่าวต่อไปอีกว่า สำนักงานต้องทำงานคู่ขนาน ไม่ใช่รอเอกชนที่ปรึกษาอิสระ  สรุปผลการวิเคราะห์สภาพตลาด  เพราะสุดท้าย กสทช.ต้องนำข้อสรุปเหล่านั้นมาพิเจารณาว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่  และมีข้อเสนออย่างไร   ดังนั้นในขั้นตอนการเตรียมพิจารณา สำนักงาน สามารถทำศึกษาแบบคู่ขนาน  โดยอาจตั้งที่ปรึกษา  อนุกรรมการ  หรือคณะทำงาน ที่มีผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแข่งขัน ด้านตลาด  หรือด้านเศรษฐศาสตร์  ด้านกฎหมายเข้ามาร่วมคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย  และจัดทำข้อเสนอล่วงหน้า ถ้ามีรายงานของที่ปรึกษาอิสระมาก็สามารถดำเนินการได้เลย

 

“สิ่งที่เป็นไปได้ เป็นคำถามพื้นฐาน ถ้าจะพิจารณาเรื่องนี้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวิเคราะห์พื้นฐานตลาดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คำถามที่เหมาะสมง่ายๆ คือ จำนวนผู้ให้บริการที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยควรมีกี่ราย  เพื่อให้การเกิดการแข่งขัน  และบริการมีคุณภาพ  มีการประหยัดต่อขนาด  และมีผลดีกับผู้บริโภคโดยตรง จากประสบการณ์ในต่างประเทศ  บางประเทศ ไม่อนุญาตให้มีการควบรวม เพราะทำให้ผู้เล่นลดลง  แต่บางประเทศอนุญาตให้ควบรวม  แต่มีเงื่อนไขจำนวนผู้เล่นต้องเท่าเดิม   มีคำสั่งให้กระจายคลื่นหลังการควบรวมไปให้ผู้ให้บริการรายใหม่  หรือ หากไม่สามารถคงจำนวนผู้เล่น  และก็ให้เพิ่มผู้เล่น MVNO ขึ้นมา   และสิ่งที่ควรดำเนินการอีกอย่าง คือการติดตามสภาพตลาดระยะยาวหลังการควบรวม จากการศึกษาของสหภาพยุโรป  พบว่าาภายหลังการควบรวมราคาจะเพิ่มขึ้น

 

นพ. ประวิทย์  กล่าวต่อไปอีกว่า ข่าวไม่ยืนยันระบุว่าชื่อกสทช.ชุดใหม่ ออกจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้วถ้าเป็นเช่นนั้นคาดว่าจะมีการโปรดเกล้า กสทช. ชุดใหม่ ภายใน 1- 2 สัปดาห์    ซึ่งกรรมการกสทช. ชุดปัจจุบันไม่น่าจะเป็นผู้อำนาจการพิจารณา

 

กสทช.ไม่สามารถปฎิเสธการดูแลเรื่องการควบรวมกิจการ “ทรู- ดีแทค”ได้  ซึ่ง กสทช.ต้องวิเคราะห์ตลาด ต้องมองไปในอนาคต ว่าถ้าไม่ให้ควบรวม จะสามารถลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อย่างไร  ในกรณีผู้ประกอบการกล่าวอ้าง ช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อน  เช่น   นโยบายการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร   นโยบายจัดตั้งบริษัทโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร   นโยบายการใช้โครงข่ายรวมกัน ในกรณีที่อีกรายไปไม่ถึงจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร  รวมถึงนโยบายส่งเสริมผู้เล่นรายใหม่  และ ผู้ประกอบการแบบไม่มีโครงข่าย  MVNO  รายใหม่”