มนต์รักออนไลน์สุดท้ายฉันโดนหลอก เตือนภัยแฝงวาเลนไทน์

14 ก.พ. 2565 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2565 | 22:49 น.

dtac Safe Internet ชวนทำความรู้จัก#RomanceScam เสี่ยงสูญเงินล้าน ตกเป็นเหยื่อการฟอกเงินผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

dtac Safe Internet ชวนทำความรู้จักภัยกลโกงไซเบอร์ที่อาจแฝงมาในวันวาเลนไทน์ ‘Romance Scam’ หรือการ ‘หลอกให้รัก หวังแสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อใจของเหยื่อ’ โดยหลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สินไปให้ ปัจจุบันมีผู้เสียหายจากการหลอกโอนเงินมากมาย และหนึ่งในกลโกงออนไลน์ที่มี มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อมากที่สุดคือ Romance Scam สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ระบุว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 จนถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สถิติการรับเรื่องคดีที่เป็น Romance Scam มีผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินจำนวน 332 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 193,015,902.11 บาท

มนต์รักออนไลน์สุดท้ายฉันโดนหลอก เตือนภัยแฝงวาเลนไทน์

พ.ต.อ มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชน จากคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต และวิทยากรในห้องเรียนออนไลน์วิชา Online Privacy & Sexual Abuse ของ dtac Young Safe Internet Cyber Camp กล่าวว่า เมื่อเหยื่อตระหนักรู้มากขึ้น นักล่าก็ต้องอัพเลเวลเพิ่มมากขึ้น  การปลอมแปลงตัวตน เปลี่ยนรูปแบบการรับเงินโอนบัญชีมาฟอกผ่าน ‘คริปโต’ ที่สำคัญนักล่าไม่ใช่แค่เพียงเป็นต่างชาติแต่เป็นคนไทยด้วย หรือแม้กระทั่งคนใกล้ตัว และคนใกล้ชิดในครอบครัว

 

เพื่อรู้เท่าทันกับภัยออนไลน์ Romance Scam ดีแทค Safe Internet ขอแนะนำให้ผู้ใช้งานดิจิทัลต้องทำความเข้าใจกลอุบายเหล่านี้เสียก่อนว่า ผู้ที่เข้ามาหลอกลวงมักจะมาด้วยอุบายสุดฮิตคือ

1.            ทำทีมาจีบและให้ความหวังว่าอยากจะมาแต่งงานที่เมืองไทย และส่งทรัพย์สินให้ “แต่ต้องชำระเงินค่าภาษีก่อน”

2.            ได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาล “แต่ต้องชำระภาษีมรดก”

3.            ป่วยหนัก “แต่ประกันยังเบิกจ่ายไม่ได้”

4.            ส่งของรางวัลราคาแพงมาให้ แต่ติดอยู่ที่ด่านตรวจ “ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน”

5.            เป็นนักธุรกิจที่จะมาลงทุน “แต่ต้องการให้ร่วมทุนด้วย”

ผู้ใช้งานดิจิทัลสามารถสังเกตและจับเท็จผู้ที่เข้ามาหลอกลวงได้โดย สังเกตจากการที่มิจฉาชีพมักใช้รูปโปรไฟล์ที่ดูดี มีฐานะ ทักทายด้วยคำหวาน และใช้ภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกหลักไวยกรณ์ มิจฉาชีพส่งอีเมลหรือลวงให้ใส่ข้อมูลธนาคาร เมื่อผู้ใช้งานดิจิทัลเริ่มรู้สึกสงสัย หรือเริ่มระแคะระคายว่าจะโดนหลอกเข้าให้แล้ว ผู้ใช้งานควรจะหาวิธีรับมือ ตัวอย่างเช่น

1.            ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเอง หลีกเลี่ยงการเปิดกล้อง หรือพูดคุยเห็นหน้า

2.            ตรวจสอบรูปโปรไฟล์ว่านำมาจากที่อื่นหรือไม่

3.            ตั้งสติ ใจเย็น หมั่นถามคำถาม

4.            หากมีการนัดพบ ควรมีเพื่อนไปด้วย

5.            หลีกเลี่ยงการโอนเงินทุกกรณี

6.            ระวังตัวอยู่เสมอ เพราะนักต้มตุ๋นออนไลน์มีทุกที่

 

แต่หากรู้ตัวว่า ได้ตกเป็นเหยื่อแล้ว ควรตั้งสติและจัดการกับปัญหาดังนี้

1.            เตรียมเอกสารส่วนตัวและสำเนาบัตรประชาชน

2.            เตรียมหลักฐาน เช่น ภาพสนทนาในแอปที่ใช้ รวมถึงรูปโปรไฟล์ของผู้กระทำผิด

3.            เตรียมหลักฐานการโอนเงินต่างๆ เช่น สลิป หรือ รูปการทำธุรกรรม

4.            รีบไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุที่ใกล้ที่สุด หรือโทรสายด่วย 1710 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)