"มช." นำร่อง 5G Smart Health อย่างเต็มรูปแบบ

04 ก.พ. 2565 | 17:17 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2565 | 00:26 น.

"มช." นำร่อง 5G Smart Health อย่างเต็มรูปแบบสู่การสร้าง telemedicine platform"ระหว่างระบบการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด รวมถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

เทคโนโลยี 5G ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธุรกิจ ด้านการขนส่ง ด้านเทคโนโลยี หรือด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 5G และเพื่อสนองรับนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทยของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการให้บริการทางด้านสุขภาพ

\"มช.\" นำร่อง 5G Smart Health อย่างเต็มรูปแบบ

พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นต้นแบบการให้บริการประชาชน (5G District) ภายใต้โครงการนำร่อง 5G Smart Health และ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะเป็นการสร้าง telemedicine platform ระหว่างระบบการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด รวมถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในระดับตติยภูมิขั้นสูง ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งความพร้อมด้านการรักษา มีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ ทีมพยาบาล ทีมบุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยพร้อมรองรับการรักษาประชนที่อาศัยในเขตจังหวัดภาคเหนือและพื้นที่ห่างไกล เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพ จึงได้นำเอาเทคโนโลยี 5G รวมกับ AR technology มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อลดต้นทุนในการเดินทางมายังโรงพยาบาล

\"มช.\" นำร่อง 5G Smart Health อย่างเต็มรูปแบบ

พร้อมลดความเสี่ยงในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 การนำเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงสามมิติ ด้วยรถพยาบาลอัจฉริยะ (AR technology with Smart ambulance) ผนวกกับแว่นตาอัจฉริยะ (AR consulting glasses) ผ่านระบบเครือข่าย 5G ในการให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถ Smart ambulance ในรูปแบบ real time ทำให้ลดอัตราการตาย และภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางมายังโรงพยาบาล อีกทั้งยังมี Web Application ที่ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างครบวงจร โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพียงผู้ป่วยสามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอ ที่ใกล้เคียงที่พัก หรือสถานที่ที่สะดวกในการเข้ารับบริการ

จากการสร้าง Telemedicine Platform จะเป็นการเชื่อมระบบ 5G กับระบบสาธารณสุขระดับประเทศเข้าด้วยกัน ให้เป็นการรักษาในรูปแบบไร้รอยต่อและส่งผลถึงประชาชนให้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้าน พร้อมผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดช่องว่างทางสังคม ตลอดจนเสริมสร้างความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบุคลากรและนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป